ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาด "อีกระลอก" ในพื้นกรุงเทพมหานคร ไทยแม้เป็นหนึ่งในชาติที่เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับบุคลากรด่านหน้าแล้วก็ตาม แต่ยังถือว่ามีอัตราการเข้าถึงวัคซีนที่ยังต่ำกว่าในหลายๆ ประเทศ ประเด็นเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของไทยนั้น นับเป็นเรื่องสาธารณะที่ทั้งพิศวงและประหลาดอย่างมาก เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดการผู้ผลิตที่เลือกเพียงเจ้าเดียว ข้อเคลือบแคลงด้านวัคซีนจีน ทิศทางอันไม่ชัดเจนของนโยบาย 'วัคซีนรอง' ที่นอกเหนือจากแอสตร้าเซนเนกา เรื่อยมาจนถึงความคลุมเคลือหากว่าเอกชนจะจัดหาวัคซีนด้วยตัวเอง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนโดยเร็วและมากที่สุด
หากดูจากข้อมูลของ Our World in Data จะพบว่า สหรัฐอเมริกา นำเป็นอันดับ 1 ประเทศที่เดินหน้าฉีดวัคซีนมากที่สุดในแง่เชิงปริมาณที่กว่า 48 ล้านโดส ตามด้วยจีน และสหราชอาณาจักร แต่ทว่า ประเทศเหล่านี้มีจำนวนประชากรในปริมาณมาก จึงยังเป็นข้อจำกัดในแง่การเข้าถึงวัคซีน
พูดถึงการเข้าถึงวัคซีน "อิสราเอล" นับเป็นชาติตัวอย่างที่มีกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่เร็วที่สุด อิสราเอลเริ่มกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ตั้งแต่ 19 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 9.3 ล้านคน แต่ในเวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ชาวอิสราเอลกว่า 10% ได้รับวัคซีนเข็มแรก ต่อมาช่วงปลายเดือนก.พ. ประชากรเกินครึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรก และจนถึงขณะนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย. ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขอิสราเอลพบว่า มีพลเมืองอิสราเอลเข้ารับวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว 5.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 58.3%
18 เม.ย.รัฐบาลอิสราเอลประกาศยกเลิกมาตรการบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะ
ขณะที่ประชากรที่รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้วนั้นอยู่ที่ 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 53.7% หมายความว่า พลเมืองอิสราเอลได้รับวัคซีนถึง 111.3 โดส ต่อประชากร 100 คน คิดเป็นจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับพลเมืองทั้งสิ้นกว่า 10.1 ล้านโดส (รวมทั้งสองเข็ม) จากประชากรทั้งประเทศเกือบ 10 ล้านคน ตัวเลขนี้น่าสนใจในแง่ประสิทธิภาพการแจกจ่าย รวมถึงกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับประชากรทั้งประเทศ
กระบวนการจัดหาวัคซีนของอิสราเอลนั้นชัดเจน ย้อนไปปีที่แล้วช่วงที่ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เป็นเอกชนรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู จึงไม่รอช้าที่จะทุ่มสุดตัวเพื่อสั่งจองโควต้าวัคซีนจากไฟเซอร์ในปริมาณที่ "คลอบคลุม" สำหรับประชากรกว่า 80-90% ของประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
เมื่ออิสราเอลรับมอบวัคซีนจากไฟเซอร์ล็อตแรกราว 5 แสนโดส ช่วงกลางเดือนธ.ค. กระบวนการฉีดแทบจะเริ่มต้นในทันที เพียงระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์แรกหลังรับมอบ ประชากรราว 10% เข้าถึงวัคซีนเข็มแรก ช่วงต้นเดือนก.พ. 64 ประชากรอิสราเอลที่อายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 90% เข้าถึงวัคซีนเข็มแรก ท่ามกลางรายงานในเดือนเดียวกันที่ชี้ว่าตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง 41% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
แม้ฟังดูดี แต่ในช่วงแรกที่ได้รับมอบวัคซีน อิสราเอลประสบปัญหาในการกระจายวัคซีนเช่นกัน เนื่องด้วยวัคซีนของไฟเซอร์จำเป็นต้องถูกจัดเก็บในอุณหภูมิเย็นติดลบ แต่ต้องขนส่งแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศที่หลายส่วนเป็นทะเลทราย หมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยชาวอาหรับในพื้นที่ห่างไกลด้วย ไปจนถึงชุมชนที่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองอย่างปาเลสไตน์ หากเทียบแล้วชาวปาเลสไตน์ยังคงเข้าไม่ถึงวัคซีนมากเท่ากับที่พลเมืองอิสราเอลเข้าถึงในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายอยู่ไม่น้อย
การรณรงค์ในระดับรัฐก็สำคัญ นอกเหนือจากที่รัฐบาลเทลอาวีฟ จะใช้แคมเปญรณรงค์ในหลากหลายรูปแบบเพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนเข้ารับการฉีดแล้ว อิสราเอลยังออกมาตรการที่เรียกว่า "บัตรสีเขียว" (green pass) ซึ่งจะออกให้เฉพาะผู้ที่เข้ารับวัคซีนแล้วเท่านั้น บัตรนี้จะเสมือนใบอนุญาตให้ประชาชนที่เข้ารับวัคซีนแล้วในเข็มแรกหรือครบแล้วทั้งสองเข็ม เข้าถึงหรือมีสิทธิเข้าใช้บริการสถานบริการบางแห่งที่รัฐอนุญาต อาทิ โรงยิม โรงแรม หรือ โรงภาพยนตร์ หากไม่มีบัตรดังกล่าว จะถูกห้ามเข้าใช้บริการ ขณะเดียวกัน อิสราเอลได้ใช้ฐานข้อมูลด้านหมายเลขโทรศัพท์และอีเมล์ ในการติดต่อกับพลเมืองเพื่อแจ้งกำหนดการเข้ารับวัคซีน หรือเพื่อเตือนให้มาฉีดวัคซีนในเข็มที่สอง ทั้งยังใช้ช่องทางเดียวกันนี้เปิดให้ประชาชนแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด
อิสราเอลใช้สถานที่ในหลากหลายรูปแบบในการเปิดให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีน มีตั้งแต่ในโรงพยาบาล โรงยิม สนามบาสเก็ตบอล ไปจนถึงร้านค้าผับบาร์ที่ถึงขั้นแจกคูปองเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ฟรี หากว่ามาเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งยังยกระดับการฉีดในบ้างพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถเข้ารับวัคซีนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากการรณรณรงค์ ในระดับภาครัฐแล้ว อิสราเอลในฐานะชาติที่ความเชื่อทางศาสนายิว ยังคงมีอิทธิพลต่อประชาชนบางกลุ่ม ทั้งถือเป็นอุปสรรครูปแบบหนึ่งในการโน้มน้าวใจให้พลเมืองบางกลุ่มที่เคร่งศาสนาเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังมีแรปไบ (นักบวชในศาสนายิว) จำนวนไม่น้อยที่เคลื่อนไหวผ่านการเทศนา เรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเข้ารับการฉีดวัคซีนเช่นกัน
ดั่งตอนหนึ่งของเนื้อเพลงชาติ 'ฮาทิควา' Hatikvah (The Hope) ที่ร้องว่า "โอด โล อาฝดา ทิควาเทนู" (ความหวังของเรา ไม่เคยสูญสิ้น) อิสราเอลตั้งเป้าความหวังให้กระบวนการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมอย่างรวดเร็วนี้ สามารถเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง และเพื่อให้ชีวิตของประชาชนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้มากที่สุดภายในไตรมาสสาม หรือก่อนสิ้นปีนี้
ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระบวนการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าอย่างมากตามรายงานในข้างต้น แต่ทว่าอิสราเอลกลับพบการระบาดของโควิดระลอกที่สาม และรุนแรงสุดของประเทศ มีรายงานผู้ติดเชื้อบางวันพุ่งถึงหลัก 10,000 คน แต่ในตอนนี้ช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา หลังกระบวนการฉีดวัคซีนคลอบคลุมในประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จำนวนเคสรายวันลดลงอย่างมาก ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลเมื่อ 4 เม.ย. พบรายงานผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 130 ราย
อีราน ซีกัล (Eran Segal) นักชีววิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ Weizmann ของอิสราเอล เผยว่า แม้ช่วงเดือนมกราคมจะมีจำนวนรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้น ทว่ากลับสวนทางกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาของอิสราเอลลดลงมากกว่า 90% นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่อิสราเอลเผชิญการระบาดระลอกที่สอง ซึ่งยังไม่มีวัคซีน กับการเผชิญระลอกที่สามท่ามกลางกระบวนการที่ประเทศกำลังเดินหน้าฉีดวัคซีน
ช่วง 27 มี.ค. - 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันหยุดในเทศกาลปัสกา ชาวยิวจำนวนมากเดินทางหยุดพักผ่อนไปยังหลายเมืองทั่วประเทศ ร้านค้า ร้านอาหาร ผับบาร์หลายแห่งได้ใช้ระบบคิวอาร์โค้ดของบัตรสีเขียว เพื่อยืนยันตัวตนว่าลูกค้ารายนั้นได้รับวัคซีนแล้ว และสามารถเข้าใช้บริการได้ หากว่าที่บริการนั้นเป็นสถานที่แบบปิด กลยุทธ์บัตรสีเขียวนี้ ได้รับความสนใจอย่างมากจากหลายชาติ อาทิ สหราชอาณาจักร ที่ยกย่องความสำเร็จของอิสราเอลในการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน ทั้งกระบวนการแจกจ่ายยังมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางกระบวนการฉีดที่ยังคงดำเนินไป การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเริ่มทยอยกลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าวัคซีนไฟเซอร์จะเหมาะกับทุกคน อิสราเอลซึ่งใช้วัคซีนของไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลักในการแจกจ่าย ตัววัคซีนเองยังคงมีข้อจำกัดในแง่อายุและประวัติทางสุขภาพของผู้ที่จะเข้ารับการฉีด ตามกฎของหน่วยงานสาธารณสุขอิสราเอลระบุว่า
หมายความว่า ไม่ใช่ประชากรทุกคนที่สามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้ แต่จากงานวิจัยล่าสุด ชี้ว่า อิสราเอลกำลังเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในประชาชากรแล้ว ประชากรที่ไม่อาจรับวัคซีนได้ กำลังได้รับการปกป้องจากประชากรที่รับวัคซีนครบทั้งสองเข็ม หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งคือตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เป็นกราฟพุ่งลงอย่างเห็นได้ชัด ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การวิจัยยังชี้ว่าจากการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 20 จุดในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง เด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีซึ่งไม่อาจรับวัคซีนได้นั้น มีจำนวนติดเชื้อลดลงราวครึ่งนึงจากก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การศึกษาซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญว่าผลกระทบเชิงบวกดังกล่าวนั้นครอบคลุมและมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด
ความสำเร็จดังกล่าวของอิสราเอล ด้วยการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วประกอบกับอัตราการติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลเทลอาวีฟเล็งพิจารณาข้อบังคับที่ต้องให้สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดเตือนว่า ความสำเร็จดังกล่าวอาจทำให้ประชาชน "มีความตระหนักน้อยลง" ขณะเดียวกัน แม้วัคซีนอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่ไม่ได้วัคซีนไม่ได้รับประกันว่าป้องกันแพร่เชื้อ ทั้งยังไม่นับปัจจัยความเสี่ยงที่ไวรัสอาจดื้อยาเช่นกัน ดังนั้น ท่ามกลางความสำเร็จด้านวัคซีนของอิสราเอล รัฐบาลอาจยังคงจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หากว่าความเสี่ยงการติดเชื้อในประเทศอยู่ในวงจำกัด แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
Adi Niv-Yagoda ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ และเป็นสมาชิกที่ปรึกษาโควิด-19 ของรัฐบาล เชื่อว่าประเทศใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการระบาดแล้ว
อีกซีกโลกหนึ่งแถบอเมริกาใต้ ชิลี ประเทศซึ่งมีประชากรราว 18 ล้านคน และมีอัตราการแจกจ่ายวัคซีนไฟเซอรแก่ประชาชนเร็วไม่แพ้กับอิสราเอล แต่สถานการณ์ระบาดของทั้งสองประเทศ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
กรณีชิลี ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในการแจกจ่ายประชาชนควบคู่วัคซีนซิโนแวค ของจีน แต่ประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลายฝ่ายควรมองกรณีชิลีเป็นอย่างที่ว่า โครงการฉีดวัคซีนของชิลีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น กลับปลูกฝังความรู้สึกปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งรัฐบาลผ่อนคลายข้อจำกัดเร็วเกินไป ทำให้ผู้คนไม่เห็นคุณค่าของความเสี่ยงการระบาดที่ยังคงมีอยู่ รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม และได้อนุญาตให้ชาวชิลีเข้าร่วมในเทศกาลวันหยุดฤดูร้อนโดยไม่ระบบการควบคุมอย่างเข้มงวด และขาดการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาพุ่งอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
กรณีศึกษาระหว่างอิสราเอลและชิลี มีความต่างกันในแง่วัคซีนที่ใช้ ชิลีซึ่งใช้วัคซีนไฟเซอร์ควบคู่กับซิโนแวคของจีน ส่วนอิสราเอลซึ่งใช้เฉพาะของไฟเซอร์ จึงยังไม่อาจเป็นปัจจัยที่เปรียบเทียบในเชิงประสิทธิภาพได้ แต่หากเทียบกับผลทดลองทางคลินิกวัคซีนของไฟเซอร์ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในบรรดาวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ขณะที่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม สังคมและจำนวนประชากร ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกันที่ส่งผลต่อความสำเร็จด้านวัคซีนของสองชาติต่างกันโดยสิ้นเชิง
ที่มา : Theguardian1 , Theguardian2 , Technologyreview , NPR , Gov.il , Healthaffairs
ข่าวที่เกี่ยวข้อง