น.ส.พรรณิการ์ วานิช คณะก่้าวหน้า กล่าวถึงแคมเปญเดือน พ.ค. ปี 2535-2553 และแฮชแท็ก 'ตามหาความจริง' รวมถึงที่มีการยิงเลเซอร์ข้อความตามสถานที่ราชการและสถานที่สาธารณะ ว่า เดือน พ.ค. เป็นเดือนที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทย มีการสังหารหมู่ประชาชนเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในเดือนนี้ คือ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และการสลายการชุมนุม พ.ค. ปี 2553 ซึ่งครบรอบ 10 ปีที่เกิดขึ้น
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า อยากทำความจริงให้ปรากฏ เพราะคนรุ่นหลัง ส่วนน้อยอาจจะไม่ทราบหรือไม่เข้าใจการเมืองในยุคก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่จะเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับคนที่สูญเสีย นำตัวผู้กระทำความผิด มาสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งสิ่งนี้ถึงจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ของคนในสังคมได้ ทุกคนต้องรู้ความจริงคืออะไร นี่คือที่มาของแฮชแท็กตามหาความจริง เราไม่ได้สถาปนาชุดความจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากที่มีการยิงเลเซอร์ข้อความต่างๆ ตามที่ต่างๆแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จ มีคนตามหาว่าคืออะไร มีคนแชร์ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย มีคนแชร์คลิปเก่าๆ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องผูกขาดโดยใคร
เปิดเสวนาออนไลน์-ฉายสารคดีการเมือง
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การยิงเลเซอร์เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของแคมเปญเท่านั้น หลังจากนี้จะมีการทยอยปล่อยข้อมูล และสารคดีต่างๆ ออกมา จะเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งสองเหตุการณ์ โดยไฮไลต์จะมีการฉายหนังออนไลน์ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-20 พ.ค.ที่จะเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในประเทศอินโดนีเซีย มีการพูดคุยกับครอบครัวของผู้สูญเสีย ส่วนตัวมองว่าตรงนี้จะสะท้อนมาถึงประเทศไทยได้
และในวันที่ 19 พ.ค.จะมีการจัดเสวนาออนไลน์แยก พูดถึงวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล, การปฏิรูปกองทัพเมื่อไหร่จะสำเร็จในประเทศไทย, เมื่อไหร่ครอบครัวของผู้สูญเสียจะได้รับการเยียวยา และเมื่อไหร่จะได้พบเจอความจริง เป็นต้น
เมื่อถามถึงในส่วนของคดีความที่อาจจะถูกดำเนินคดีได้ น.ส.พรรณิการ์ บอกว่า มีความกังวล ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปละเมิดประชาชน แม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผิดข้อหาอะไร ส่วนตัวอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าคณะก้าวหน้าเป็นคนคิดริเริ่มแคมเปญนี้ หากต้องการจะที่จะดำเนินคดีทางกฎหมาย ก็มาเอาผิดที่คณะหากหาข้อหาเอาผิดได้ แกนนำคณะก้าวหน้า บอกทิ้งท้ายว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องดิสเครดิตรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือยอมรับความจริง ไม่เช่นนั้น ทุกคนจะเหมือนอยู่ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
น.ส.พรรณิการ์ ชี้แจงว่า รูปแบบการฉายข้อความบนผนังอาคารนั้น เป็นรูปแบบที่ทั่วโลกทำในวงการศิลปะและโฆษณา รวมถึงการเรียกร้องทางการเมืองในหลายประเทศ โดยไม่ได้เป็นการเจาะจงหรือตั้งใจเชื่อมโยงกับการฉายข้อความในประเทศเยอรมนีแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม