วันที่ 8 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม สส. ของพรรคเพื่อไทยในวันเดียวกันนี้ มี แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย รวมถึงเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมประชุมด้วยโดยในที่ประชุมใหญ่ได้มีการรายงานผลการประชุม สส. ของแต่ละภูมิภาค เช่น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้รายงานการประชุมของ สส. ภาคเหนือ ที่ได้เตรียมการอภิปรายการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นี้ โดยยืนยันจะมี สส. เข้าร่วมอภิปรายมากขึ้น และมีการหารือเรื่องของปัญหาของประชาชนด้านการเกษตร ที่มีคำร้องเรียนผ่าน สส. ทั้งปัญหาราคาข้าว และราคาข้าวโพด ที่ขอให้พรรคเพื่อไทยแก้ไขปัญหา
ขณะที่ตัวแทน สส. ภาคอีสาน นั้น มนพร เจริญศรี สส.นครพนม ได้รายงานการประชุม ไปเดินเรื่องความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล โดยขอให้ผู้ที่อยู่ในทีมเจรจาได้รายงานความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็ที่ส่งกำลังใจ ต่อคณะเจรจาเดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยให้ได้ เพราะเชื่อมั่นว่าชาวอีสานต้องการให้ สส. มาเป็นรัฐบาล ซึ่งเมื่อพูดเสร็จ แพทองธาร เศรษฐา พร้อม สส. ในที่ประชุมได้ปรบมือ
ส่วน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. เป็นตัวแทน สส. ภาคกลาง กทม. และภาคใต้ ระบุว่า หลังรวบรวมความคิดเห็นแล้ว เห็นว่า แกนนำของพรรคเพื่อไทยมีความพยายามที่จะรวบรวมเสียงจาก สส. และ สว. แต่ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครก็ตาม ของให้เป็นคนจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 10 ส.ค.นี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ วิสุทธิ์ ไชยณรุน สส.แบบบัญชีรายชื่อ จะเดินทางไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปตรวจระบบผังน้ำในภาคอีสาน ขณะนี้ในพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และบางพื้นที่มีน้ำท่วม ขณะที่ในบางพื้นที่ก็เกิดสถานการณ์ภัยแล้งจนไม่มีน้ำใช้ รวมถึงจะลงพื้นที่ดูเรื่องระบบงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพรลำดับถัดไป เพื่อไปดูสถานการณ์ใบต้นยางร่วง และไปดูปัญหาเรื่องล้งทุเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงประชุม สส. วันเดียวกันนี้ยังได้หารือ และพูดคุยประเด็นข้อห่วงใยของสมาชิกถึงการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม ซึ่งมีสมาชิกหลายคนกังวลว่าจะกระทบกับคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในอนาคต โดยแกนนำพรรคได้อธิบายถึงเหตุผล และความจำเป็น โดยเฉพาะการรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด ให้เพียงพอสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของพรรคเพื่อไทย พร้อมกันนี้ ยังได้หารือถึงการเตรียมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. นัดแรก โดยการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย รวบรวมข้อมูล เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด