จังหวัดชิสุโอกะประกาศปิดภูเขาไฟฟูจิช่วงฤดูร้อนปีนี้ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปยังยอดเขา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโรคโควิด-19 โดยถือเป็นการปิดเส้นทางการเดินเขาครั้งแรกในรอบ 60 ปี
แถลงการณ์ของทางจังหวัดชิสุโอกะระบุว่าจะปิดเส้นทาง ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นภูเขาไฟฟูจิ นับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.-10 ก.ย.2563 โดยรวมถึงเส้นทางขึ้น 3 เส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดชิสุโอกะ
ขณะที่เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.) จังหวัดยามานาชิ ซึ่งมีเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาภูเขาไฟฟูจิเช่นกัน ก็ประกาศปิดเส้นทางขึ้นเขา ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมพระอาทิตย์บนยอดเขาในปีนี้เช่นกัน
ภูเขาไฟฟูจิเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปยังบนยอดเขาทุกๆ ปีในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น โดยเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) หลังจากที่ทางจังหวัดชิสุโอกะได้ทำเส้นทางการขึ้นสู่ยอดเขาที่มีความสูง 3,776 เมตรจำนวน 3 เส้นทาง
เส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น
การปีนภูเขาไฟฟูจิเป็นหนึ่งในกิจกรรมในฤดูร้อนที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นให้มาเยือนจังหวัดชิสุโอกะเป็นจำนวนมากทุกปี ซึ่งในปีที่แล้ว ( ปี 2562 ) มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปสู่ยอดเขาถึง 236,000 ราย
การปีนภูเขาไฟฟูจิเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและฝึกความอดทนประเภทหนึ่งด้วยเส้นทางที่ค่อนข้างแคบและสูงชันในการขึ้นสูงยอดเขา โดยมีสำนวนญี่ปุ่นประโยคหนึ่งท่ีกล่าวว่า ‘มันไม่ใช่ความโง่ หากจะปีนภูเขาไฟฟูจิสักครั้ง แต่มันเป็นความโง่ หากปีนภูเขาไฟฟูจิครั้งที่สอง’
สำหรับเส้นทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว คือ เส้นทางโยชิดะเทรลในจังหวัดยามานาชิ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปยังยอดเขากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ใช้เส้นทางดังกล่าว โดยนักท่องเที่ยวกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะใช้เวลาในการปีนเขาเป็นระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ซึ่งบนยอดเขานั้นจะมีที่พักไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้พักค้างคืน ก่อนที่จะขึ้นไปชมพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดภูเขาไฟที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ที่พักแต่ละแห่งที่ตั้งบนความสูงเกือบ 3,500 เมตรนั้นมีลักษณะค่อนข้างแออัด และมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ง่ายเช่นกัน
(ที่พักบนสถานีที่ 8 ที่ไว้ให้นักปีนเขาพักผ่อนก่อนจะขึ้นให้ถึงยอดเขาในช่วงเช้ามืด)
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 16,000 รายและมีผู้เเสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว 749 ราย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ยังคงมาตรการภาวะฉุกเฉินในโตเกียวและโอซะกะ
ที่มา Japan today / Japantimes
ข่าวที่เกี่ยวข้อง