ไม่พบผลการค้นหา
ในวันนี้ (3 เม.ย.) สภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียได้อนุมัติการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตภาคบังคับสำหรับความผิดบางประเภท โดยหลังจากนี้ วุฒิสภามาเลเซียจะเข้ารับร่างกฎหมายเพื่อทำการพิจารณาต่อ และถ้ากฎหมายดังกล่าวผ่านการอนุมัติโดยวุฒิสภา มันจะถูกส่งไปยังำพระมหากษัตริย์มาเลเซียเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทั้งนี้ มีการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า ร่างกฎหมายจะผ่านการพิจารณาโดยวุฒิสภา

การแก้ไขยกเลิกโทษประหารชีวิตของมาเลเซีย จะมีผลกับความผิด 34 ความผิดในปัจจุบันตามกฎหมายมาเลเซีย ซึ่งมีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิต โดยรวมถึงการฆาตกรรมและการค้ายาเสพติด โดยโทษ 11 ประเภทในนั้นถือเป็นการลงโทษภาคบังคับ ทั้งนี้ โทษประหารชีวิตจะถูกยกเลิกลง ในฐานะการเป็นทางเลือกสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต เช่น การลักพาตัว และการค้าอาวุธปืน

มาเลเซียมีนโยบายระงับการประหารชีวิตมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ศาลมาเลเซียยังคงตัดสินโทษประหารชีวิต แก่ผู้กระทำความผิดอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ ภายใต้การแก้ไขเมื่อวันจันทร์ ทางเลือกทางการลงโทษอื่นนอกเหนือจากโทษประหารชีวิต จะรวมถึงการเฆี่ยนตีและจำคุกเป็นเวลา 30 ถึง 40 ปีภายใต้เงื่อนไขบางประการ

รามคาร์ปาล ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกฎหมายมาเลเซีย กล่าวว่า โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่กลับคำตัดสินไม่ได้ ซึ่งไม่สามารถยับยั้งการก่ออาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เราไม่สามารถละเลยการมีอยู่ของสิทธิโดยกำเนิด ในการมีชีวิตของแต่ละคนโดยพลการ โทษประหารชีวิตไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้” ซิงห์กล่าวขณะการกล่าวสรุปการอภิปรายในรัฐสภา เกี่ยวกับร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต

สภาผู้แทนราษฎมาเลเซียผ่านร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่ง ได้ทำการเพิ่มโทษประหารชีวิต โดยในปีที่แล้ว สิงคโปร์ประหารชีวิตบุคคล 11 คนจากคดียาเสพติด ในขณะที่เมียนมาได้ตัดสินประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คน

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย เรียกการลงคะแนนเมื่อวันจันทร์ว่าเป็น “ก้าวสำคัญของมาเลเซีย” พร้อมกล่าวเสริมว่า “นี่เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ที่จะทำให้เกิดบทสนทนาอย่างจริงจังในการประชุมอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้น” โรเบิร์ตสันระบุกับสำนักข่าว AFP โดยอ้างถึงชาติสมาชิกอาเซียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ

“มาเลเซียควรแสดงความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนให้รัฐบาลอื่นๆ ในอาเซียนให้คิดใหม่อีกครั้งในการที่พวกเขายังคงใช้โทษประหารชีวิตต่อไป โดยเริ่มจากสิงคโปร์ที่เพิ่งเข้าสู่กระบวนการประหารชีวิตหลังโควิดระบาด” โรเบิร์ตสันระบุ


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/3/malaysias-parliament-votes-to-abolish-the-death-penalty?sf176411523=1&fbclid=IwAR1s5TTUcKfRVLHSOcXRDasXbYlNr1cmH5YHrqhF-U7dSVJpeAuTCqr5GXs