สำนักพระราชวังบังกิงแฮมเปิดเผยพระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ความว่า “ในโอกาสครบรอบปีแรกแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และการขึ้นครองราชย์ของข้าพเจ้า เราระลึกถึงพระชนม์ชีพอันยืนยาว การอุทิศตนในการรับใช้ และทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีความหมายต่อพวกเราหลายคนด้วยความรักอย่างยิ่ง “
ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งเช่นกัน สำหรับความรักและการสนับสนุนที่มีให้กับภรรยาของข้าพเจ้า และตัวข้าพเจ้าเองตลอดปีนี้ ในขณะที่เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้การรับใช้พวกท่านทุกคน”
เพื่อเป็นการฉลองพระชนม์ชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการ ที่พระองค์โปรดของพระราชมารดาผู้ล่วงลับ ซึ่งถูกฉายที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2511 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมฉายาลักษณ์ที่ฉายโดย เซซิล บีตัน ช่างกล้องชื่อดังของสหราชอาณาจักร
พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวฉายขึ้น ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระชนมายุ 42 พรรษา และทรงสวมชุดดาวเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ โดยพระบรมฉายาลักษณ์จัดแสดงครั้งแรกที่หอศิลป์จิตรกรรมภาพเหมือนแห่งชาติ ระหว่างเดือน พ.ย. 2511 ถึงเดือน มี.ค. 2512 ทั้งนี้ บีตันฉายภาพสมเด็จราชินีนาถครั้งแรกในปี 2485 และยังคงฉายภาพพระองค์และสมาชิกพระราชวงศ์ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษ โดยการฉายภาพในปี 2511 นับเป็นครั้งสุดท้ายที่บีตันถวายงานต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงประทับและฉลองถึงพระชนม์ชีพพระมารมารดาที่บัลมอรัล สถานที่พักผ่อนในสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชวงศ์อังกฤษใช้เวลาช่วงพักร้อนตามพระราชประเพณี
ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ยังแสดงความเคารพต่อสมเด็จพระราชินีนาถผู้ล่วงลับ โดยเขายกย่องพระราชปัญญา ความสง่างาม และ "พระสติปัญญาเฉียบแหลม" ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรยังกล่าวว่า ความขอบคุณสำหรับการทรงงานของพระองค์ และ “ชีวิตหน้าที่และการอุทิศพระองค์ที่พิเศษ” ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านไปแล้ว 1 ปี นับจากการสวรรคตของพระองต์ในพระชนมายุ 96 พรรษา
ก่อนการสวรรคตไม่กี่วัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตรัสต่อ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนสุดท้ายในรัชสมัยว่า พระองค์กับทรัสส์จะได้ “พบกันอีกครั้งเร็วๆ นี้” ในการเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายของทรัสส์ 2 วัน ก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จสวรรคต ทั้งนี้ ทรัสส์ยังเล่าอีกว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรง “เด็ดเดี่ยวเป็นอย่างมาก” เมื่อเธอสนทนาผ่านโทรศัพท์กับพระองค์ในวันที่พระราชมารดาสวรรคต และพระองค์ได้เริ่มขึ้นครองราชย์ในวันนั้น
ทรัสส์ให้สัมภาษณ์กับ The GB News ถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า “ในการเข้าเฝ้าที่บัลมอรัล พระองค์ทรงรู้เหนือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน พระองค์กระตือรือร้นมากที่จะทำให้ดิฉันมั่นใจว่าเราจะได้พบกันอีกเร็วๆ นี้ มันสำคัญมากสำหรับพระองค์” ทรัสส์ยังกล่าวเสริมอีกว่า “แม้ว่าพระวรกายของพระองค์จะค่อนข้างอ่อนแอ แต่พระองค์ก็ทรงมีความตื่นพระองค์ทางพระทัยอย่างยิ่ง” ทรัสส์ย้ำอีกว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงพระประชวรหนักแต่อย่างใด
ทรัสส์เล่าว่าเธอได้รับแจ้งถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงของสมเด็จพระราชินีนาถ ในวันที่ 7 ก.ย. 2565 หลังจากมีการเลื่อนการประชุมองคมนตรี “ดิฉันมาถึงก่อนเวลา 18.00 น. เพื่อเข้าร่วมการประชุม” ทรัสส์กล่าวกับ คาเมรอน วอล์คเกอร์ ผู้สื่อข่าวของราชวงศ์ The GB News “ทุกคนก็รออยู่ที่นั่นและเรารอสักครู่ แล้วก็มีข่าวมาว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะไม่สามารถประชุมได้อีกต่อไป และนั่นเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินเรื่องนี้ แต่เห็นได้ชัดว่ามันเป็นสัญญาณของลางร้ายอย่างมาก”
ทรัสส์กล่าวถึงสถานการณ์ในวันที่ 8 ก.ย. 2565 ว่า “สิ่งต่างๆ เห็นได้ชัดว่าแย่ลงไปอีกในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นดิฉันคิดว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับการตระหนักถึงเหตุการณ์ ไม่ใช่แค่สำหรับดิฉัน แต่สำหรับเพื่อนร่วมงานของดิฉันด้วย” โดยทรัสส์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่สำนักนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้รับการยืนยันถึงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ซึ่งเธอกล่าวว่า “เราอยู่ที่แฟลตบนถนนดาวนิงร่วมกับเจ้าหน้าที่และคนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีข่าวออกมา มันก็เป็นการยืนยันถึงความกลัวที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยมี”
ทรัสส์กล่าวว่าเธอรู้สึกเศร้ามากกับสถานการณ์นี้ แต่จิตใจของเธอก็หันไปสนใจการปฏิบัติหน้าที่จริงในวันข้างหน้าด้วย “แค่รู้ว่าดิฉันจะต้องจัดการกับมัน สมองส่วนหนึ่งของคุณกำลังคิดอยู่ โอ้พระเจ้า นี่เป็นโอกาสสำคัญ” ทรัสส์กล่าว “นี่คือสมเด็จพระราชินีนาถของเรา ที่ครองบัลลังก์มาเป็นเวลา 70 ปี เบื้องหลังชีวิตของเราได้หายไปแล้ว”
ที่มา: