'สีจิ้นผิน' เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำจีน ประกาศสงครามกับขยะอาหาร โดยกล่าวว่า "การสร้างขยะอาหารเป็นสิ่งที่น่าละอายและการประหยัดมัธยัสถ์เป็นสิ่งที่น่ายกย่องมากกว่า"
ผู้นำจีนยังกล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จีนต้องตระหนักและรักษาสภาพความมั่นคงของวิกฤตทางอาหารที่เกิดขึ้น
การกล่าวถึง 'ขยะอาหาร' มีขึ้นหลังจากจีนประสบกับอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลให้พื้นที่การผลิตเสียหายและราคาอาหารในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
รายงานของสมาคมวิทยาศาสตร์จีนและสถาบันภูมิศาสตร์และทรัพยากรพบว่าในปี 2558 จีนสร้างขยะอาหารมากกว่า 18 ล้านตัน ซึ่งมากเพียงพอที่เลี้ยงประชากรได้ถึง 30-50 ล้านคน
ขณะที่กว่า 500 เมืองในจีนสร้างขยะอาหารมากถึงวันละ 50 ตันในแต่ละเมือง โดยเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้สร้างขยะอาหารมากถึงวันละ 1,000-2,000 ตัน
มาตรการจำกัดการสั่งอาหาร
เมื่อปี 2013 จีนเคยออกมาตรการรณรงค์ 'จานเปล่า' ซึ่งเป็นโครงการให้ผู้บริโภครับประทานอาหารให้หมดจานเพื่อลดปริมาณขยะอาหารแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามหลังจากคำประกาศของสีจิ้นผิงเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ทางสมาคมอุตสาหกรรมอาหารของเมืองอู่ฮั่นได้ออกมาตรการเรียกร้องให้ร้านอาหารต่างๆในเมือง จำกัดการเสิร์ฟอาหาร หรือจำหน่ายอาหาร ซึ่งเรียกว่า 'มาตรการ N-1' โดยผู้บริโภคต้องสั่งอาหารให้น้อยกว่าจำนวนผู้บริโภคบนโต๊ะ เช่น หากรับประทานอาหาร 10 คน สามารถสั่งอาหารได้สูงสุดเพียง 9 จานเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ร้านควรจำหน่ายอาหารในขนาดครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ หรือขนาดเล็กกว่าจานปกติที่มีการจัดจำหน่าย รวมทั้งเสนอให้มีการนำอาหารใส่กล่องกลับบ้านหากรับประทานไม่หมด
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เมืองอู่ฮั่นเท่านั้นที่มีการรณรงค์ตามมาตรการ N-1 แต่เมืองเซียนหนิง ในมณฑลหูเป่ย และเมืองซินยางในมณฑลเหอหนานก็นำมาตรการไปปฏิบัติเช่นกัน
ขณะที่ใน 'เว่ยป๋อ' โซเชียลมีเดียของจีนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการ N-1 โดยชี้ว่าเข้มงวดเกินไป ขณะที่บางความเห็นระบุว่าควรไปกวดขันความฟุ่มเฟือยในงานเลี้ยงของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า เพราะการรับประทานอาหารของประชาชนไม่ได้สร้างขยะอาหารเท่ากับงานเลี้ยงของเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่มา BBC / The guardian / Earth