ไม่พบผลการค้นหา
อายุขัยเด็กที่เกิดใหม่ในปัจจุบัน 'สั้นลง' เฉลี่ยประมาณ 20 เดือน โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เป็นผลจากมลพิษทางอากาศ

รายงานประจำปี 2019 ของ The State of Global Air (SOGA) ชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศที่เลวร้ายทั่วโลกส่งผลต่ออายุขัยของเด็กที่เกิดใหม่ในปัจจุบัน ทั้งยังส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากมลพิษของประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า อายุขัยของเด็กเกิดใหม่นั้นจะลดลงโดยเฉลี่ย 20 เดือน เป็นผลจากสภาพอากาศที่เป็นพิษ

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตประชากรบนโลกมากกว่าโรคมาลาเรียและการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยในปี 2017 มีอัตราถึง 1 ใน 10 ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ในภูมิภาคเอเชียใต้ เด็กที่เกิดในปัจจุบันจะมีอายุขัยลดลงถึง 30 เดือน และในภูมิภาคซับ-ซาฮาราในแอฟริกานั้น อายุขัยของเด็กจะสั้นลง 24 เดือน โดยมีสาเหตุหลักจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรมและการจราจร รวมไปถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการประกอบอาหาร ด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออก มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่ออายุขัยของเด็กที่เกิดใหม่ในปัจจุบันให้ลดลงราว 23 เดือน แต่ทั้งนี้ สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว อายุขัยของเด็กที่เกิดในปัจุบันอาจจะลดลงต่ำราว 5 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างเนปาลและอินเดียนั้น มีค่าผุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 สูงเกือบสองเท่าของค่ามลพิษในจีน แต่ประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา อย่างสหรัฐฯ นอร์เวย์ แคนาดา สวีเดน นิวซีเเลนด์ มัลดีฟส์ บรูไน และเอสโตเนีย ต่างเป็นประเทศที่ค่าเฉลี่ยมลพิษอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีผลกระทบมากนัก

โรเบิร์ต โอ คีฟฟ์ รองผู้อำนวยการสถาบันผลกระทบด้านสุขภาพ The Health Effects Institute กล่าวว่า 'อายุขัยที่ลดลงของเด็กที่เกิดในปัจุบันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่มีปาฏิหารย์ใดๆ จะช่วยได้ แต่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว"

"ยกตัวอย่างการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศจีน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2013 รัฐบาลได้พยายามลดการผลิตที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินลง รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาด รวมไปถึงการควบคุมจำนวนพาหนะในบางเมืองของประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาดควบคู่ไปด้วย ซึ่งส่งผลให้มลพิษทางอากาศของจีนนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น' 

เมื่อปีที่แล้ว รายงานของ SOGA พบว่าประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ต่างหายใจเอาอากาศในระดับที่เป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิตเข้าไปทุกวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของพาหนะ การจราจรที่แออัด และการใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้เพื่อประกอบอาหารภายในครัวเรือน 

ที่มา The guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง