ไม่พบผลการค้นหา
'ปดิพัทธ์' แถลงผลงานรัฐสภาเท่าเทียม-โปร่งใส แก้ระเบียบการแต่งกายประชาชน ให้สุภาพตามฐานะ เสนอใช้ลานประชาชนทำกิจกรรม มีฉายหนังทุกวันศุกร์ พร้อมชงตั้ง 'สำนักเลขาฯ รัฐสภา' ลดความซ้ำซ้อน-เพิ่มเอกภาพ ระหว่าง 2 สำนักเลขาฯ สส.-สว. ชวนจับตาบทบาทนิติบัญญัติไม่ให้อยู่ใต้อำนาจองค์กรอิสระ เชื่อหากเปลี่ยนสภาฯ ได้ เปลี่ยนประเทศก็ไม่ยาก

วันที่ 7 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แถลงข่าวผลงานรัฐสภา ปี 2023 'รัฐสภาแห่งความเท่าเทียมและโปร่งใส' โดยยอมรับว่า 6 เดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ง่าย มีอุปสรรคพอสมควร โดยผลงานที่สำเร็จด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ การกำหนดพื้นที่การแต่งกายใหม่ จะเห็นได้ว่า ชุดสากลนิยมจะใช้ภายในอาคาร แต่ภายนอกอาคารประชาชนสามารถแต่งกายที่หลากหลายได้ โดยกำหนดเป็นนิยามใหม่ของความสุภาพเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชน โดยให้แต่งกายตามฐานะนุรูป คือมีฐานะเท่าไหร่ก็แต่งเท่านั้น ซึ่งได้กำหนดเป็นระเบียบอีกชุดหนึ่งขึ้นมา

รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนลงทะเบียน ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีผู้มาลงชื่อกว่า 150 คน ภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งหลังจากนี้ก็เตรียมจะเปิดรับประชาชนมาสังเกตการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.

ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ที่สำเร็จแล้ว คือ เรื่องห้องให้นมบุตร ขณะที่เรื่องฐานข้อมูลโปร่งใส ได้ปรับปรุงสถานะกฎหมาย ผ่านเว็บไซต์ ที่อัพเดทกฎหมายแบบเรียลไทม์ รวมถึงการปรับปรุงเว็บไซต์ PBO หรือสำนักงบประมาณด้วย

สำหรับสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปในปีนี้ เชื่อว่าจะสามารถยกระดับสภาฯ ในหลายมิติ ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดไว้ว่าจะให้มีการจัดกิจกรรมที่ลานประชาชนขึ้นทุกเดือน ไม่ใช่แค่ตามเทศกาล และจะมีการฉายภาพยนตร์ที่ลานประชาชนในทุกวันศุกร์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณค่าของสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย บทบาทความเท่าเทียมของคนในสังคม โดยในวันที่ 14 ก.พ. นี้จะมีกลุ่มแรกที่จะมาใช้กิจกรรม คือกลุ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

นอกจากนี้ จะปรับใช้ Traffy Fondue ในการศึกษาดูงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในพื้นที่อาคารรัฐสภา ตลอดจนการสังคายนากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำลังจะครบรอบ 100 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการแก้ไขใหญ่มาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งหลายครั้งที่กฎหมายเจออุปสรรคต่อจากสมัยใหม่ โดยรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากกล่มคนที่ต้องการการพิจารณากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากประชาชนทั่วประเทศ ร่วมมือกับมูลนิธิปรีดีเกษมทรัพย์ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นประโยชน์และเชื่อมโยงกับโลกสมัยใหม่มากขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีการจัดเตรียมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสภา ใช้ขับลาดตระเวนทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจสภาต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง โดยตั้งใจใช้รัฐสภาเป็นต้นแบบในการขยาย ให้ส่วนราชการอื่นๆ สามารถใช้รถ EV ได้ พร้อมระบุว่า ผู้บริหารคนอื่นไม่รู้ แต่หากเป็นตน ถ้าเปลี่ยนรถได้ จะไม่เปลี่ยนเป็นรถใช้น้ำมันแน่นอน แต่เป็นรถ EV 

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงระบบ 'แฟ้มผลงาน สส.' เปิดเผยทิศทางทางการเมือง สังกัดพรรค ของ สส. รวมถึงเปิดเผยรายชื่อของคณะทำงาน สส. ซึ่งปัจจุบันมี สส. ได้ลงรายชื่อแสดงความยินยอมแล้ว 146 ท่าน ตนเองไม่ได้ตำหนิผู้ที่ไม่เปิดเผย เพราะแต่ละคนมีเหตุผลของตัวเอง แต่เชื่อว่าการเปิดเผยในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของคณะทำงานส.ส

สำหรับการไลฟ์สดการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นั้น จากการทดลองไลฟ์สดในคณะกรรมาธิการ 2 ชุด มีความเห็นตรงกันว่า การประชุมกรรมาธิการสามารถถ่ายทอดได้ โดยใช้มติจากที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งตอนนี้มีห้องประชุมที่พร้อมใช้งานไลฟ์สดได้มี 10 ห้อง

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงอีก 1 เรื่องใหญ่ คือ ประธานรัฐสภาได้ดำริให้มีการตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างข้าราชการรัฐสภา ถือเป็นการปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2535 เนื่องจากปัจจุบันมีหลายโครงสร้างที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทับซ้อนกัน มีหลายหน่วยงานที่มี 2 ชุด เราจะลดความซ้ำซ้อนลง โดยการตั้งสำนักงานเลขาธิการของรัฐสภา เป็นตำแหน่งใหม่เพื่อให้รับผิดชอบงานของทั้ง 2 สำนักได้อย่างเป็นเอกภาพ

และจะมีการยกระดับหน่วยงาน 2 สำนัก ให้ทัดเทียมสากล คือ 1) สำนักกฎหมาย จำเป็นต้องให้มีความทัดเทียมในการกฤษฎีกา จึงตั้งสำนักงานเลขาธิการนิติบัญญัติขึ้นมา เพื่อให้เราไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่นในด้านนิติบัญญัติมากเกินไป และ 2) สำนักงบประมาณ ซึ่งมีผลงานที่ยอดเยี่ยม แต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของของกระทรวงการคลัง จึงต้องยกระดับการติดตามการบริหารงบประมาณ การอนุมัติโครงการ ให้มีความเรียลไทม์และดิจิทัลมากขึ้น

ปดิพัทธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ประชาชนติดตามสถานะขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้กำลังตกต่ำ และจะจับตาการมีอำนาจล้นเกินขององค์กรอิสระที่ไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอกฎหมาย หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังมีข้อจำกัดมากมาย แต่อยากให้ประชาชนมีความหวัง มั่นใจและตั้งใจร่วมกัน ที่จะเปลี่ยนแปลงสภาให้ดี ให้มีตัวตนและศักดิ์ศรี หากเปลี่ยนแปลงสภาฯ ได้ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยก็ไม่ยากจนเกินไป