นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงตรวจการปรับใช้มาตรการลดใช้ถุงพลาสติก หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562
ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอมาตรการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมกับมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประชุมหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย 43 ราย เพื่อกำหนดแนวทางวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติก โดยแนวทางวิธีการที่จะดำเนินการขึ้นอยู่กับห้างร้านที่จะพิจารณาเลือกแนวทางวิธีการที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นไปตามหลักการงดให้ถุงพลาสติก รวมทั้งการกำหนดวิธีการปฏิบัติผ่อนผัน การรองรับที่ชัดเจนสำหรับภาชนะหรือถุงบรรจุของร้อน อาหารเปียก เนื้อสัตว์ และผลไม้
สำหรับในกรุงเทพฯ มี 4 ห้างสรรพสินค้าใหญ่ร่วมมาตรการ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สุขุมวิท 50 (อ่อนนุช), ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ชิดลม และศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกของไทยสามารถกำหนดแหล่งที่มาได้ 3 แห่ง คือ 1. ห้างสรรพสินค้า ในสัดส่วนร้อยละ 30 2. ร้านค้าโชห่วย ในสัดส่วนร้อยละ 30 และ 3. ตามตลาดสดท้องถิ่น ในสัดส่วนร้อยละ 40 และเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียว กระทรวงฯ จึงจับมือกับร้านค้ากว่า 90 รายทั่วประเทศ และสถานีโทรทัศน์อีก 8 แห่งเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของประชาชนเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดสดท้องถิ่น แต่จะเดินหน้าโครงการอย่างเต็มกำลัง และจะดึงองค์กรต่างๆ ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ เข้าไปให้ความรู้รวมถึงควบคุมการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งให้เข้มข้นขึ้น
พร้อมกับตั้งเป้าหมายอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการนำขยะพลาสติกไปแปรรูปเป็นพลังงานต่างไป ซึ่งแม้จะยังต้องอาศัยความร่วมมือในการคัดแยกขยะจากประชาชนเพิ่มเติม แต่ปัจจุบันมีองค์กรของภาครัฐที่พร้อมเข้ามารองรับการคัดแยกและนำไปทำธุรกิจเพิ่มเติมอยู่แล้ว
นายวราวุธ ย้ำในตอนท้ายว่า ภายในระยะเวลา 5 - 6 เดือน ที่ประชาสัมพันธ์โครงการมา ถือว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากอันดับการผลิตขยะพลาสติกของไทยต่ำลงจากอันดับที่ 6 ของโลก มาเป็นอันดับที่ 10 ของโลก พร้อมชี้ว่า มาตรการลดถุงพลาสติกใหม่นี้ในเบื้องต้นจะลดจำนวนถุงพลาสติกในประเทศได้ราวร้อยละ 30
"เราไม่ได้ต่อต้านการใช้ถุงพลาสติก แต่ต่อต้านการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง" นายวราวุธ กล่าว
จากการสอบถามความคิดเห็นประชาชนของทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ทราบถึงโครงการการงดแจกถุงพลาสติก ตามห้างสรรพสินค้าที่เริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ โดยส่วนมากมาจากการประชาสัมพันธ์จากข่าวสาร อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ยอมรับว่าการไม่มีถุงพลาสติกใช้สร้างความลำบากในช่วงแรกเช่นเดียวกัน แต่ก็คิดว่าสามารถปรับตัวได้และมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกับสิ่งแวดล้อม
นายแก้ว นำยันณ์ทองใบ กล่าวว่า การงดแจกถุงพลาสติกแท้จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะห้างสรรพสินค้าขายส่งรายใหญ่ของประเทศก็ทำเช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ขณะที่นาง สุธาทิพย์ ปัญญาแก้ว กล่าวว่า ตนเองสนับสนุนโครงการนี้ แต่หากวันไหนตนลืมนำถุงผ้ามาเอง ก็เลือกที่จะไม่ซื้อของแทนที่จะมาซื้อถุงพลาสติก ที่ทางห้างสรรพสินค้าจัดเตรียมเอาไว้รองรับ
ด้าน กัญญ์วรา เอื้อโภไคยกูล ชี้ว่า การไม่ใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องที่ดีมากๆ กับสิ่งแวดล้อม พร้อมกล่าวว่า เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หลายประเทศก็ไม่แจกถุงพลาสติกเวลาไปซื้อของ การนำมารณรงค์และปรับใช้กับประเทศไทยจึงมองว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมและอยากสนับสนุน
เช่นเดียวกัน นายรุ่งเรือง รักกลาง มองว่า การลดการแจกถุงพลาสติกช่วยได้มาก โดยชี้ว่า ตนเองอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์และเห็นขยะพลาสติกจำนวนมากที่ถูกทิ้งต่อวัน และอยากสนับสนุนมาตรการดังกล่าวนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :