ไม่พบผลการค้นหา
รายงานจากเดนมาร์กเผยว่า ถุงผ้าที่ทำจากฝ้ายใช้ทรัพยากรการผลิตสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยถุงผ้าหนึ่งใบอาจต้องนำกลับมาใช้ซ้ำถึง 20,000 ครั้ง จึงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเท่าต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของการผลิตถุงพลาสติกหนึ่งใบ

หากพิจารณาถุงชนิดต่างๆ ในฐานะการกลายเป็นขยะหลังถูกใช้งาน ทั้งในแง่ของจำนวน และการย่อยสลายตามธรรมชาติ ถุงพลาสติกย่อมส่งผลเสียมากที่สุดอย่างแน่นอน ทว่าหากคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากด้านของการกลายเป็นขยะแล้ว ถุงผ้าอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติกเสียอีก

รายงานการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ประเภทถุงหิ้ว โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหารประเทศเดนมาร์ก ระบุว่า หากพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อย่างผลกระทบของกระบวนการผลิตต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำลายชั้นโอโซน ปริมาณน้ำ และพลังงานที่ใช้ในการผลิต มลภาวะทางอากาศ และการก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ถุงพลาสติกกลับเป็นทางเลือกที่เลวร้ายน้อยที่สุด

ข้อสรุปดังกล่าวมาจากการที่รายงานฉบับนี้ยืนพื้นว่า ถุงหิ้วพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (low density polyethylene: LDPE) มักจะถูกใช้ซ้ำหนึ่งครั้งในฐานะถุงรองถังขยะ และพิจารณาถุงชนิดอื่นๆ ว่าจะต้องใช้ซ้ำกี่ครั้งจึงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเท่าการใช้ถุงพลาสติกหนึ่งใบ

ผลที่ได้คือ ถุงผ้าที่ทำจากฝ้ายออร์แกนิกนั้นจำเป็นต้องถูกรียูสถึง 20,000 ครั้ง จึงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเท่าถุงพลาสติก ในขณะที่ถุงผ้าที่ทำจากฝ้ายทั่วไป ซึ่งผ่านการตัดต่อยีนนั้นต้องถูกรียูส 7,000 ครั้ง

สาเหตุนั้นมาจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมากระหว่างกระบวนการผลิตถุงผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้ายจนกลายมาเป็นถุง และเหตุที่ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกจำเป็นต้องรียูสมากกว่าถุงผ้าฝ้ายทั่วไปนั้น เป็นเพราะรายงานประเมินว่า ฝ้ายออร์แกนิกนั้นให้ผลผลิตน้อยกว่าฝ้ายทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอย่างน้ำในการผลิตมากกว่าถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในการผลิต แม้จะนับรวมข้อดีของการผลิตฝ้ายออร์แกนิก คือการใช้ปุ๋ยน้อยกว่า และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งลดการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำด้วยแล้วก็ตาม ทั้งนี้รายงานฉบับนี้อยู่บนสมมติฐานว่า ถุงผ้าฝ้ายรีไซเคิลไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลสิ่งทอนั้นมีอยู่น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงว่าโดยทั่วไปแล้วถุงพลาสติกที่รายงานของเดนมาร์กใช้ยืนพื้นนั้น คือถุงหิ้วพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ มีเนื้อพลาสติกแบบที่ประเทศไทยเรียกกันว่าถุงเย็น แต่ถุงหูหิ้วที่บ้านเราคุ้นชิ้นกันนั้น คือถุงหิ้วพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (high density polyethylene: HDPE) หรือถุงร้อนขุ่น ซึ่งไม่มีการพิจารณาในรายงาน เพราะเป็นการศึกษาถุงหิ้วชนิดต่างๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปในเดนมาร์กเป็นหลัก

ถึงที่สุดแล้ว แม้ถุงผ้าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในกระบวนการผลิต ทว่าแชมป์ของปัญหาจากขยะประเภทถุงก็ยังคงเป็นถุงพลาสติก เนื่องจากการใช้แล้วทิ้ง ประเด็นหนึ่งที่สำคัญจึงอาจไม่ใช่การปฏิเสธการใช้ถุงผ้า แต่เป็นการใช้ถุงผ้าที่มีอยู่ และเลิกการบริโภคถุงผ้าใหม่ ซึ่งมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงมากกว่า

อ้างอิง:

On Being
198Article
0Video
0Blog