หอการค้าไทยร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (๋JFCCT) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) แถลงความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติกับเศรษฐกิจไทย
(นายกลินท์ สารสิน; คนที่สองจากซ้ายมือ)
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความสำคัญในการลงทุนต่อไทยมาก เมื่อดูจากปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ ในปี 2561 ซึ่งมีจำนวนสูงสุดถึง 334 โครงการ หรือ คิดเป็นร้อยละ 32 ของโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ทั้งนี้ หากมองลึกไปที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนถึงร้อยละ 46 ของการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 109,600 ล้านบาท
ดังนั้นประเทศไทยต้องเพิ่มศักยภาพการส่งออก เพิ่มงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (2562) นายกลินท์ แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ (1) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยผู้ประกอบการไทยต้องจับตามองผลการเจรจาครั้งล่าสุดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ (2) อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจับตาดูความผันผวนของค่าเงินอย่างใกล้ชิด แต่อยากจะขอให้เกิดความคงที่มากกว่านี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและลดความกังวลของนักลงทุน
"เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน มันไม่แข็งก็อ่อนสองอย่าง ข้อสำคัญคือทำอย่างไรจะจัดการความเสี่ยงให้ได้" นายกลินท์ กล่าว
นักธุรกิจต่างชาติจับตาเลือกตั้ง ชี้อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทย
(นายสแตนลีย์ คัง: ซ้าย)
นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า การเลือกตั้งและการเข้าสู่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ดีทั้งสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ผลดีจะสามารถอยู่ไปในระยะยาวได้ไหม ต้องรอดูผลหลังการเลือกตั้ง
ขณะที่ นายทสึโยชิ อิโนะอุเอะ กรรมการผู้จัดการหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) กล่าวว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงของประเทศไทย ในระยะสั้นอาจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่สุดท้ายแล้วการมีการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ดี
"การเข้าสู่การเลือกตั้ง เข้าสู่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี พวกเราในฐานะชาวต่างชาติ ก็รออยู่ แต่ว่าเลือกตั้งออกมาแล้วผลเป็นอย่างไรต้องรอดูหลังการเลือกตั้ง" นายสแตนลีย์ กล่าว
ถ้ามี "การชุมนุม-เดินขบวน" ก็จะกระทบการทำธุรกิจ
นายสแตนลีย์ กล่าวด้วยว่า นักลงทุนหลายบริษัทไม่ได้เพิ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพียง 2-3 ปี บางรายลงทุนมาเป็น 10 ปีแล้ว ความเป็นห่วงและความเป็นกังวลมีแน่นอน แต่ความมั่นใจก็มีเยอะกว่า อีกทั้งหอการค้าร่วมต่างประเทศก็พยายามสื่อสารออกไปถึงมาตรการและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา เพื่อผลักดันและสนับสนุนการลงทุน
ขณะที่ กรรมการผู้จัดการหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ย้ำชัดว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองไม่ได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนชาวญี่ปุ่นแต่อย่างใด สิ่งที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นกังวลมากกว่าคือผลกระทบเชิงสังคมหลังการเลือกตั้ง เช่น ความเป็นไปได้ของการเดินขบวน ซึ่งอาจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มาทำธุรกิจในไทย
"แต่เรามีความกังวลในเรื่องผลกระทบเชิงสังคม สมมติว่ามีการเดินขบวนกันอีกมันก็จะทำให้ชาวญี่ปุ่นที่มาทำธุรกิจได้รับผลกระทบตามมาด้วย" นายทสึโยชิ กล่าว
ย้ำไทยยังมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ต้องปรับปรุงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากหอการค้าต่างประเทศทั้งสองราย ต่างยืนยันว่า สเสน่ห์ของไทยในสายตานักธุรกิจต่างชาติยังมีอยู่ แต่ก็ควรมีการพัฒนาเพื่อสร้างแรงดึงดูดใหม่ๆ ให้เข้ามาด้วย
นายสแตนลีย์ย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ อีกทั้งยังมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมในแทบทุกภาคส่วน
ด้านนายทสึโยชิกล่าวว่า เสน่ห์ของไทยอาจะติดขัดเล็กน้อยในระยะสั้น แต่ระยะยาวยังคงดีอยู่ และไม่อยากให้มองแค่เรื่องของค่าแรง เพราะการมองภาพรวมในแง่ความคุ้มค่าไม่ได้มีปัจจัยค่าแรงอย่างเดียว
(นายทสึโยชิ อิโนะอุเอะ)
นักลงทุนไม่มองจีดีพีไทยแต่มองศักยภาพของอาเซียน
เมื่อกล่าวถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งล่าสุด วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ในช่วงเช้า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ออกมาแถลงว่า ตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่ ตัวเลขจีดีพีรวมทั้งประเทศในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 พลาดจากเป้าร้อยละ 4.3 ที่ตั้งไว้ และยังเป็นตัวเลขจีดีพีที่น้อยกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ จะก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนชาวต่างหรือไม่
ทั้งสองหอการค้าพูดไปในทางเดียวกันว่าไม่ควรมองแค่จีดีพีในประเทศอย่างเดียว แต่ควรมองไทยภาพรวมของอาเซียนและศักยภาพในการเติบโตในฐานะศูนย์กลาง หรือ ฮับ ในการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า
"ถ้ามองแต่ตลาดไทยจีดีพีมันต่ำไปนิดนึง แต่ถ้าส่งออกไปกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่เป็นประเทศที่กำลังขยายตัวก็สามารถที่จะอาศัยการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้านมาขยายธุรกิจได้" นายทสึโยชิ กล่าว
"(นักลงทุนต่างชาติ) ก็มีความมั่นใจเพียงแต่ว่าเราต้องดูเป็นอาเซียนไม่ใช่ดูไทยอย่างเดียว ไทยเป็นฮับ ลงทุนในประเทศไทยแล้วสามารถเชื่อมต่อกับข้างบ้านได้" นายสแตนลีย์ กล่าว
เมื่อมองดูแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศคือการเพิ่มความเข้มแข็งภายในประเทศ ซึ่งมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ประชากรในประเทศ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ต้องแข่งขันกันที่ค่าแรงคนงาน แต่เป็นที่การคุ้มค่าโดยภาพรวมของการลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :