ระหว่างรอความชัดเจนว่าโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 ที่สุดแล้วจะมีรายละเอียดอย่างไร ใช้เงินดิจิทัลรูปแบบไหน ดึงงบมาจากส่วนใด และเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ได้ยินมาหลายเดือนจะถูกนำมาใช้แบบใด
วอยซ์ ชวนอ่านความคิดเห็นของเหล่ากูรูด้านเศรษฐกิจ จากงานเสวนาเรื่อง ‘เงิน 10,000 บาทดิจิทัล 5 คำถามที่ต้องเคลียร์?!’ จัดโดย SPACEBAR Money Forum เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2023 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
สุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย, สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคาร Krungthai, ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด, สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล
พวกเขาคิดเห็นอย่างไรต่อนโยบบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ใช้วงเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท หรือราว 3.5% ของ GDP เพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นครั้งใหญ่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน แนวคิดนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน รองรับการใช้งานของประชาชน 56 ล้านคนได้หรือไม่ รวมถึงความคาดหวังของรัฐบาล ในการเปิดประเทศไปสู่สังคมยุคดิจิทัลจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายใดบ้าง
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า แรกเริ่มที่พรรคเพื่อไทยชูนโยบายนี้ตอนหาเสียง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเนื่องใช้เม็ดเงินมหาศาล อีกทั้งภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ส่วนเศรษฐกิจไทยยังขาดการผลักดันด้านเรื่องการส่งออก ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อและค่าเงินผันผวนในปี 2567
แต่เมื่อมองในปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยนไป นโยบายมีความจำเป็นในสองเรื่องหลักด้วยกันคือ
1. ตามที่เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตอาจดำเนินการในช่วงกุมภาพันธ์ปี 2567 เป็นอย่างเร็ว เมื่อถึงเวลานั้น เศรษฐกิจโลกจะย่ำแย่ สะท้อนผ่านตัวเลขเชิงสถิติหลายชุด ทั้งภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางการเงินก็เริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 หรือตัวเลขการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง แปลว่า การใช้จ่ายจะมีปัญหามากขึ้น รวมถึงการนัดหยุดงานของพนักงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างๆ ประกอบกับเรื่องของ Government Shutdown (การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ บางส่วน) ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ก็สะท้อนว่าอเมริกากำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงิน
“สถานการณ์ในฝั่งยุโรปกำลังเข้าสู่แดนหดตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนฝั่งจีน ถึงแม้ในช่วงสั้นๆ เริ่มฟื้นขึ้นมาได้บ้างเพราะมีการอัดฉีดเม็ดเงิน แต่ภาพใหญ่ สงครามการค้าและนโยบายของสีจิ้นผิงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอในระยะยาว ฉะนั้น ภาพที่เราหวังว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งติดลบอยู่ประมาณ 5% (Year to Date) ผมคิดว่าค่อนข้างยากที่จะฟื้น ปีหน้าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระดับหนึ่ง”
2. สภาพัฒน์เปิดเผย GDP ไทยไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ต่ำกว่าที่คาดว่าจะโต 3% การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาครัฐค่อนข้างแย่ เนื่องจากช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ไม่ได้มีการผลักดันการลงทุนและการส่งออก กระทบเป็นลูกโซ่ในเรื่องการผลิต
เมื่อภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 ออกมาแย่กว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ทำให้ปัจจุบัน หนี้เสีย (NPL) และ Special Mention Loan (หนี้ที่มีการค้างชำระ 31-90 วัน) อยู่ในระดับสูง บ่งชี้ว่าภาพเศรษฐกิจในประเทศกำลังชะลอตัวลง
“ผมเชื่อว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรจะต้องทำ แต่แน่นอนว่าโลกนี้ไม่อะไรฟรี มันก็อาจมีผลบางอย่างกระทบมา”
“ผมเข้าใจรัฐบาลที่อยากจะให้เศรษฐกิจไทยไปสู่ 5% ขึ้นไป ขั้นแรกการกระตุ้นเศรษฐกิจมันก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ตัวคูณตามที่คำนวนไว้มันจะไม่ได้สูงมากหรอก แต่หากลองนึกภาพว่า คน 56 ล้านคนได้เงิน ขณะที่ตอนนนี้แผนมาตรการยังไม่ชัดเจนมากนัก ทำให้ผู้ผลิตอาจยังไม่ได้ผลิตสินค้าเพิ่มมากนัก ดังนั้น สินค้าคงคลัง (Inventory) จึงค่อนข้างน้อย ของอาจจะขาด ถึงจุดนั้นราคาสินค้ามีสิทธิ์แพงขึ้น
“แบงก์ชาติก็อาจกังวลเรื่องเงินเฟ้อ แต่ฝั่งเศรษฐกิจจริง เมื่อของแพงขึ้น คนก็อาจเริ่มลงทุนผลิตสินค้าทดแทน และเมื่อมันเดินหน้าเต็มประสิทธิภาพการผลิต ในระยะต่อไปก็เป็นไปได้ว่าบางส่วนจะเริ่มเพิ่มการลงทุนมากขึ้น และหากมาพร้อมกับการชักจูงการลุงทุนฝั่งประเทศตะวันตกเข้ามา หรือกระทั่งในเอเชียจากจีน ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไปได้เหมือนกัน”
สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคาร Krungthai มองภาพรวมของประเทศปัจจุบันว่า
“ทีนี้เงิน 5.6 แสนล้าน มันคือเงินที่เยอะมาก ถ้าคิดว่า เรานำเงินนี้มาสร้างความแข็งแรงให้คนในประเทศ เพื่อให้ Productivity ของประเทศดีขึ้น เรามาปรับกลยุทธ์ สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้แปลว่าบล็อกเชน และบล็อกเชนไม่เท่ากับเศรษฐกิจดิจิทัล แต่บล็อกเชนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น
“ถ้าเราคิดเรื่องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างขีดความสามารถของคน ทำให้เศรษฐกิจหมุนเร็วขึ้นด้วยการสร้าง Productivity ให้ประเทศ ผมคิดว่าลงทุน 5.6 แสนล้านคุ้ม” สมคิดกล่าว
สุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย มองว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตสามารถปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นขึ้นได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องวางกรอบระยะเวลา 6 เดือนเสียทีเดียว และอาจไม่จำเป็นต้องครอบคลุม 56 ล้านคนทันที รัฐบาลสามารถยืดกรอบเวลาออกไปได้ รวมถึงในช่วงแรก อาจเริ่มจากให้เงิน 14-20 ล้านคนก่อน (เฉพาะกลุ่ม) แล้วค่อยๆ ขยายจำนวนในระยะต่อไปได้
“จุดเริ่มต้นอาจเป็น 14-20 ล้านคนก่อน แล้วรอรอบมันกลับมาหมุน ให้ร้านค้าทั้งหมดใช้จ่ายซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าจะทำให้โครงการนี้สำเร็จได้”
ส่วนคำถามที่ว่า นโยบายนี้จะเป็นเงินดิจิทัลรูปแบบใดนั้น ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่า น่าจะเป็น e-Money ผ่านแอพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ มากกว่า CBDC, Utility Token หรือรูปแบบคูปอง ดังนี้
สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคาร Krungthai ให้เหตุผลว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของดิจิทัลวอลเล็ต ในการรองรับคน 56 ล้านคน สิ่งแรกคือ Scalability (การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งาน) ซึ่งแอปฯ 'เป๋าตัง' มีคุณสมบัติทั้ง e-Money และ Coupon (คูปอง) และสามารถรองกับการทำธุรกรรม (transaction) ในปริมาณที่มากและเร็ว
“ถ้าเราพูดถึงแอพลิเคชั่น 'เป๋าตัง' ข้อดีคือระบบที่เป็น centralize ซึ่งสามารถสเกลได้ดีกว่าระบบ decentralized ในบ้านเราระบบใหญ่ๆ ที่คนใช้เกิน 15 ล้านคน มีแค่ mobile banking กับ 'เป๋าตัง' ดังนั้น เราต้องไม่เอาเทคโนโลยีเป็นโจทย์ แต่เราต้องมีโจทย์ของเรา แล้วหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ เช่นโจทย์คือต้องการดิจิทัลลวอลเล็ต 10,000 บาทสำหรับคน 56 ล้านคน หรือประมาณ 10,000 transaction ต่อวินาทีขั้นต่ำ ฉะนั้น เราต้อง scalable ให้ได้ดีที่สุด และใช้เวลาเท่าไหร่ในแต่ละธุรกรรม”
“ถามว่าเงิน 5.6 แสนล้านมาจากไหน พอหรือไม่ ผมคิดว่ายังไงรัฐบาลก็หาวิธีเอามาจนได้ แต่ที่เป็นห่วงคือ ใช้แล้วจะเกิดประโยชน์ยังไงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เงินไม่ได้ใช้ทันทีนะ สมมุติบอกว่าอยู่ใน e-money คุณเอาแบงก์รัฐมาค้ำประกันได้ว่า โอเค เงิน 5.6 แสนล้านที่คนค้ำประกันอยู่ แต่จะใช้จริงๆ ก็เมื่อร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีไปเบิกจริง ซึ่งในช่วง 6 เดือนนี้ ร้านค้าจะไปเบิกกี่ร้านก็ไม่รู้ หรือร้านที่รับเงินมาสุดท้ายก็ต้องเอาไปใช้จ่ายเพื่อให้สุดท้ายแล้วเงินไปลงอยู่ร้านที่ลงทะเบียนภาษีไว้
ฉะนั้น มันไม่ได้ใช้ทันทีทั้งก้อน มันค่อยๆ ทยอยใช้ ดังนั้น ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหาเรื่องจะเอาเงินมาจากไหน แต่ปัญหาคือ เงินที่เอามามันสร้างภาระอะไร แล้วประโยชน์คืออะไรมากกว่า”
สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ มองว่า ส่วนตัวแล้วเขาสนับสนุนและอยากเห็นการพัฒนาบล็อกเชนในประเทศ แต่หากพูดถึงเฉพาะ ดิจิทัลวอลเล็ต จากการวิเคราะห์ข้อมูล เขาพบว่า รูปแบบเงินในการทำนโยบายนี้คือ e-Money เหตุเพราะ
"ไม่ว่าเราจะสร้างแอพฯ อะไรขึ้นมา ในมุมผู้ใช้งาน เราไม่ได้แคร์หรอกว่ามันจะใช้อะไรบ้าง ขอให้มันเวิร์ก ผู้ใช้บริการก็แฮปปี้ ส่วนจะมีบล็อกเชนหรือไม่ ผมมองว่าเหล่านี้คือตัวเสริมมากกว่า" สัญชัยกล่าว
ส่วน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล มองสอดคล้องกับสัญชัยว่า รูปแบบเงินน่าจะเป็น e-Money มากที่สุด แต่ประเด็นที่เขากังวลมากที่สุดคือ เงินจะมาจากแหล่งใดบ้าง
“อย่างที่เพื่อไทยเขาบอกว่า เงิน 1 แสนล้านจะเอามาจากภาษีที่ 'จะ' เกิดขึ้นจากโครงการนี้ จึงเกิดคำถามว่า หรือคุณไม่ได้เอาสินทรัพย์ไปค้ำมัน 100% หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นมูลค่าอุปโลกน์ ผมมองเรื่อง Asset-Backed เป็นสำคัญ"
ในเรื่องความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบชำระเงินบน ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) แทบทุกคนให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องยากและรัฐบาลอาจต้องเผชิญกับความท้าทายมาก ดังนี้
สัญชัย มองว่า บล็อกเชนสามารถทำได้จริง แต่ก็มีความท้าทายค่อนข้างมากในเรื่องการใช้บล็อกเชน คือ
ด้านสมคิด กล่าวถึงแนวคิด decentralized ว่า คือการกระจายศูนย์ โดยวัตถุประสงค์ของการสร้างบล็อกเชนขึ้นมาเพื่อบอกว่า การกระจายศูนย์มันสร้างความโปร่งใสได้ ประเด็นคือ ระบบบล็อกเช่นนั้นมีข้อจำกัดด้าน transaction ที่ต้องใช้เวลามากกว่า และการบริหารจัดการบล็อกซับซ้อนมากกว่า ดังนั้น ถ้าจะเอาบล็อกเชนมาใช้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต อาจต้องเริ่มต้นว่า บล็อกเชนคืออีกส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้าง transaction หรือการสร้างการซื้อขาย ณ ตอนนั้น
กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อจำกัดในเรื่องของการออกแบบ 3 ประการหลักๆ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ได้แก่ ความปลอดภัย (Security), การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต (Scalability) และการกระจายอำนาจ (Decentralization)
ดังนั้น การจะทำระบบบล็อกเชนให้สามารถรองรับธุรกรรมมหาศาลจากประชากร 56 ล้านคน จำเป็นต้องเลือก Scalability มาเป็นอันดับแรก นั่นหมายความว่าต้องยอมสูญเสีย Decentralization ไป
อีกทั้งการทำระบบการชำระเงินของรัฐบาล จำเป็นต้องใช้ระบบ Private Blockchain เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้โดยไม่ติดขัด ทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตต้องเป็นแบบ Custodial Wallet ที่ทำให้ Decentralization ลดลงไปอีกนั่นเอง
ปกรณ์วุฒิ เสริมว่า รัฐบาลโฆษณาว่าดิจิทัลวอลเล็ตต้องโปร่งใส แปลว่าต้อง Decentralization (กระจายอำนาจ) แต่เมื่อจะ decentralized ระบบจะไม่สามารถขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานได้ ซึ่งจะเกิดปัญหาขึ้นมา แต่ถ้ารัฐบาลมาบอกว่า ถ้าอย่างนั้น Centralization (รวมศูนย์อำนาจ) แปลว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดมาตลอดว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปลอดภัย ไม่เป็นความจริง ดังนั้นอาจต้องเลือกสักอย่างเพื่อให้นโยบายดำเนินต่อไปได้อย่างรัดกุมที่สุด