ไม่พบผลการค้นหา
สรุปรายงานของ ป.ป.ช. เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต

รายงานของ ป.ป.ช.เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เผยแพร่ในสื่อแทบทุกสำนัก แม้เลขาธิการ ป.ป.ช.-นิวัติไชย เกษมมงคล จะบอกว่าเป็นข้อสรุปเบื้องต้นของกรรมการที่ตั้งขึ้นมาศึกษานโยบายนี้ นำโดย สุภา ปิยะจิตติ (กรรมการป.ป.ช.ซึ่งมีบทบาทสำคัญในคดีจำนำข้าว) และยังต้องนำรายงานนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.ก่อนส่งความเห็นให้รัฐบาลก็ตาม 

รายงานมี 170 กว่าหน้า สรุปสั้นๆ ได้ว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ กับนโยบายนี้ โดยไล่เรียงข้อมูลและความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ฯลฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอย่างอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติหลายคน เช่น ธาริษา วัฒนเกศ, วิรไท สันติประภพ, ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รวมถึงคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

ลำพังการพิจารณานโยบายต่างๆ ของฝ่ายบริหารนั้น การเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติที่ต้องถกเถียงกันจากหลายแง่มุมและหลายชุดข้อมูล แต่เมื่อมันเป็น ‘ความเห็นจาก ป.ป.ช.’ ซึ่งมีอำนาจเชื่อมโยงความเห็นนั้นไปกับข้อกฎหมายต่างๆ ที่ปัจจุบันมีอยู่มากมายและบีบรัดจำกัดกรอบการบริหารนโยบายของรัฐบาาลมากมายอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายที่ ‘ผู้ตรวจสอบเรื่องทุจริต’ จะก้าวไปสู่ ‘ผู้คุมนโนบาย’ ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

ดังจะเห็นได้จากอดีต ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ สามารถ ‘ล้ม’ โครงการของฝ่ายบริหารได้ตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำ เช่น โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

แม้แต่ฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลก็จับสัญญาณและ pain point เรื่องนี้ได้ เมื่อศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.ไม่ใช่ประกาศิต ควรรับฟังส่วนที่มีประโยชน์ และขอให้องค์กรอิสระทำงานในกรอบหน้าที่ของตัวเอง 

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เรื่องทุจริตดูจะกลายเป็นประเด็นเล็กมากเมื่อเทียบกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพราะเงินส่งตรงถึงมือประชาชน ประเด็นการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นตามที่ในรายงาน ป.ป.ช.ตั้งข้อสังเกตไว้ เช่น การลงทะเบียนร้านค้าปลอม, การแอบขึ้นเงินกันเองโดยไม่ได้ซื้อของจริง ฯลฯ เหล่านี้สามารถแก้ได้โดยการวางแนวปฏิบัติให้รัดกุม

ประเด็นที่เป็นไฮไลท์จริงๆ คือ เศรษฐกิจ ‘วิกฤต’ หรือไม่ เพราะมีกฎหมายล็อคไว้ว่า ถ้าจะกู้ต้องวิกฤตเท่านั้น (อ่านพัฒนาการของกฎหมายจำกัดกรอบการบริหารของรัฐบาล)


ป.ป.ช.ชี้เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต

รายงานสรุปว่า “ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าไม่เข้าข่ายวิกฤต และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย เพียงแต่มีการเจริญเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว/ต่ากว่าศักยภาพ”

เรื่องนี้เป็นการมองที่แตกต่างกันกับฝ่ายบริหารที่มองไป “ข้างหน้า” มากกว่าข้าราชการประจำ วิกฤตของรัฐบาลจึงไม่ใช่ตอนนี้ แต่เป็นในอนาคต 

“เศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับกบที่ถูกต้ม หมายความว่า จะค่อยๆ ซึมยาวจนไม่รู้สึก แต่พอเมื่อรู้สึกตัวแล้วก็จะมีปัญหา ... เวลาเอาตัวเลขภาพรวม อาจจะดูไม่ชัด แต่ถ้าลองถามประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เดือดร้อนแล้ว เขาถือว่าวิกฤติ” พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้

พรหมินทร์ขยายความว่า สถานการณ์ที่ทำให้ซคมยาวนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

1. ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนมาถึงเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด จะพบว่าตัวเลขการส่งออกของประเทศเริ่มมีปัญหาแล้ว

2. ช่วงโควิด โดยเศรษฐกิจของไทยตกลึกที่สุดในภูมิภาคนี้และเติบโตช้าที่สุด

3.ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดจากอัตราเงินเฟ้อที่ตกลง แต่ดอกเบี้ยยังสูงขึ้น ประเทศไทยโตแบบไม่เท่ากัน จำนวนหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในรอบ 10 ปี จาก 70% ต่อจีดีพี เป็น 91.6 % ต่อจีดีพี แสดงว่าคนจนกำลังยากจนลงเรื่อยๆ

ส่วนข้อมูลที่รายงาน ป.ป.ช.ใช้เพื่อชี้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ ‘วิกฤต’ คือ นิยามของวิกฤตเศรษฐกิจ ที่แบงก์ชาติชงขึ้นมา โดยนำมาจากงานวิจัยของ World Bank เรื่อง ‘Quantitative Analysis fo Crisis: Crisis Identification and Causality’ กับเรื่อง ‘Inflation Crises and Long-run Growth’ ประกอบกับรายงานของ IMF เรื่อง ‘Fiscal Crises’

สรุปนิยามวิกฤตเศรษฐกิจ เป็น 7 แบบคือ

1.วิกฤตสถาบันการเงิน (สถาบันการเงินมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจ่ายหนี้เจ้าหนี้ หรือ สถาบันการเงินมีเงินกองทุนในอัตราส่วนไม่เพียงพอรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น)

2.วิกฤตการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศอย่างรุนแรงและดุลการชำระเงิน (เกิดการสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง)

3.วิกฤตค่าเงิน (เกิดการอ่อนค่าของค่าเงินอย่างเฉียบพลันและรุนแรง)

4.วิกฤตหนี้ (เกิดการไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเป็นวงกว้าง)

5.วิกฤตการเติบโตทางเศรษฐกิจ (เกิดการหดตัวอย่างฉับพลันและรุนแรง)

6.วิกฤตด้านการคลัง (การคลังมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายอย่างเรื่องรัง ทำให้ยากลำบากในการชำระหนี้คืน)

7.วิกฤตเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อสูงมากกว่า 40%ต่อเดือน)

นอกจากนี้รายงานยังยกตัวอย่างสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤต’ ของประเทศช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคือ

  • วิกฤต้มยำกุ้ง (2540) ออก พ.ร.ก.กู้ FIDF ช่วยสถาบันการเงิน วงเงิน 1.28 ล้านล้านบาท
  • วิกฤตซับไพรม/แฮมเบอร์เกอร์ (2551) ออก พ.ร.ก.กู้ ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 4 แสนล้าน 
  • วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ (2555) ออก พ.ร.ก.กู้ บริหารจัดการน้ำ วงเงิน 350,000 ล้าน
  • วิกฤตโควิด19 (2563) ออก พ.ร.ก.กู้ 1.5 ล้านล้าน

นอกจากนี้รายงานยังระบุถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว แบ่งเป็น

1.สศช.หรือสภาพัฒน์

  • ปี 2566 GDP จะขยายตัวที่ 2.5 
  • แนวโน้มปี 2567 อยู่ที่ 2.7-3.7

การบริโภคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 8.1 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็เพิ่มสูงขึ้น หมวดบริการขยายตัวร้อยละ 15.5 และคาดว่าภาคส่งออกกำลังจะฟื้นตัวดีขึ้น

ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของวิกฤกตเศรษฐกิจในประเทศใด เพราะการจะนับว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจได้นั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ต้องมีการติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน”

การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี หากจะกระตุ้นเพิ่มเติม ในขณะที่ประทเศยังมีความเสี่ยงทางการคลัง การนำเงินมากระตุ้นระยะสั้นถึงแม้ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแต่ก็เพิ่มขึ้นระยะสั้น รวมถึงระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ปี 2566 ก็อยู่ที่ 63% แล้ว ปี 2567 น่าจะอยู่ที่ 64% หากมีนโบายนี้ด้วยหนี้สาธารณะก็จะยิ่งสูง อาจส่งผลกระทบถึงการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ  

2.ธปท. หรือแบงก์ชาติ

  • ปี 2566 GDP ขยายตัว 2.4
  • ปี 2567 GDP จะขยายตัว 3.2 ถ้ารวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย จะอยู่ที่ 3.8

หากดูอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจย้อนหลัง 10 ปี จะเห็นว่า GDP โตเฉลี่ย 1.9 (การลงทุนภาคเอกชน โตเฉลี่ย 0.6 การส่งออก โตเฉลี่ย 1.5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหมวดอื่น จึงควรเน้นนโยบายที่สองส่วนนี้แทนการแจกเงิน)

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า

  • ปี 2566 GDP ขยายตัว 2.8
  • ปี 2567 GDP ขยายตัว 4.4 (รวมผลของดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว)

กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวอยู่แล้ว แต่อาจมีความเสี่ยงในภาคส่งออกที่อาจไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจัรอิเล็กทรอนิกส์จากปัญหาเชิงโครงสร้างหลายมิติ


ป.ป.ช.ชี้กระตุ้นได้น้อย หนี้เพิ่ม

รายงาน ป.ป.ช.อ้างอิงความเห็นของแบงก์ชาติและสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ‘ตัวทวีคุณทางการคลัง’ นั้น โครงการนี้ให้ผลทวีคูนเพียง 0.4

โดยสภาพัฒน์และแบงก์ชาติ แบ่งประเภทไว้ดังนี้

1. การใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง มีตัวทวีคูณทางการคลัง เท่ากับ 1

2. การลงทุนภาครัฐ (ลดทอนส่วนการนำเข้า 35-40%) ตัวทวีคูณทางการคลังอยู่ที่ราว 0.65

3.การใช้จ่ายผ่านการโอนเงิน ตัวทวีคูณทางการเมืองอยู่ที่ 0.4

แบงก์ชาติระบุด้วยว่า เกณฑ์เหล่านี้เกิดจากการวิเคราะห์ผลหลังจากดำเนินโครงการไปแล้ว ซึ่งจะเอามาชี้วัดว่าควรดำเนินโครงการหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยาก เป็นแค่เพียงการวิเคราะห์ว่าโครงการดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

หากกระตุ้นตอนที่การบริโภคขยายตัวดีอาจมีผลให้เกิดเงินเฟ้อ ส่วนจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้เนื่องจากต้องดูหลายปัจจัย


ควรเน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์มองว่า ​โดยโครงสร้างของเศรฐกิจไทย ศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ร้อยละ 3.2-3.5 หากต้องการให้โตกว่านี้ ควรปรับโครงสร้างระยะยาว เช่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในภาคการผลิต สร้งามูลค่าเพิ่มภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

กนง.เห็นว่า โจทย์สำคัญอยู่ที่การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับทักษะแรงงาน


ข้อสรุปของรายงาน ป.ป.ช.

1.ความเสี่ยงด้านการทุจริต

มีความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย โดยตอนหาเสียงชี้แจงนโยบายกับ กกต. ระบุช่องทางการเงินไว้อย่างหนึ่ง แต่เมื่อบริหารจริงก็ทำอีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ที่แจ้ง กกต.นั้นคิดไม่รอบคอบ

“จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ และอาจเป็นกรณีตัวอย่างของการหาเสียงที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.” รายงานป.ป.ช.กล่าว

นอกจากนี้ยังมีเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงิน เช่น ร้านค้าม้าที่มารับจ้างลงทะเบียนให้อยู่นอกระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี / การสมคบคิดระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชน โดยไม่มีการซื้อขายสินค้าจริง

2. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

ประเมินจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ สรุปว่า เศรษฐกิจชะลอตัว/เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต การกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเข้าสุ่ภาวะสมดุล ต้องดูว่าคุ้มค่า จำเป็นหรือไม่ และมีผลกระทบอย่างไร

“การพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือแท้จริง เช่น กลุ่มรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อาจเป็นทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง ดอกเบี้ย และสัดส่วนของหนี้สาธารณะ ได้มากกว่า” รายงานระบุ

3. ความเสี่ยงด้านกฎหมาย

มีกฎหมายหลายตัวมากที่รายงานฉบับบนี้อ้างถึงว่ารัฐบาลเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย เช่น

  • รัฐธรรมนูญ มาตรา 71, 75
  • รัฐธรรมนูญ มาตรา 140
  • พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53
  • พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 20
  • พ.ร.บ.เงินคงคลัง
  • พ.ร.บ.เงินตรา
  • พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 57
ข้อเสนอแนะ 8 ข้อ จาก ป.ป.ช. (ว่าอย่าทำ)

1.รัฐบาลต้องศึกษาเหตุผลอย่างเป็นรูปธรรว่าผู้ได้รับประโยชน์จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการราย่อย พร้อมต้องมีวิธีการรูปธรรมชัดเชนว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั่วถึง

2.กกต. ควรตรวจสอบการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคิดไม่รอบคอบแล้วเมื่อเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นบรรทัดฐานให้พรรคการเมืองหาเสียงอย่างไรก็ได้ เมื่อเป็นรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

3.ผลการศึกษาต่างๆ ชี้ว่าเศรษฐกิจเพียงชะลอตัว ไม่เข้าข่ายประสบวิกฤต การกระตุ้นแบบมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะแรงงาน เป็นต้น

4.โครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี รัฐบาลต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น

5.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

6.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประเมินความเสี่ยงโครงการอย่างรอบด้าน และต้องมีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการ

7.ควรพิจารณากลุ่มประชาชนที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

8.การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและเหมาะสม การจ่ายเงินเพียงครั้งเดียภายใน 6 เดือน ใช้แอปเป๋าตังจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า


ด่านกฎหมายสารพัด นักร้องดักทุกทาง

ถามว่าตอนนี้องค์กรอิสระไหน ‘ตั้งท่า’ อย่างไร นักร้องต่างๆ ร้องไว้ตรงไหนบ้างสำหรับโครงการนี้ 

  • ผู้ว่า สตง. มีคำสั่ง (15 ก.ย. 66) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 305/2566 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากนโยบายนี้
  • ป.ป.ช. ตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’
  • ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นนักวิชาการ 99 คน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่านโยบายดังกล่าวขัดกฎหมายหลายฉบับ
ไทม์ไลน์ขับเคลื่อนดิจิทัลวอลเล็ต
  • นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ปรากฏต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 66 ในงาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ โดยมี เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ณ ขณะนั้น เป็นผู้ประกาศนโยบาย ระบุว่า กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับชุมชน เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นไปจนระดับประเทศ
  • ในวันนั้น เศรษฐา กล่าวถึงเงื่อนไขของนโยบายว่า จะแจกให้ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่จะใช้จ่ายได้เฉพาะกับร้านค้าชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตร มีอายุการใช้งาน 6 เดือน และร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารรัฐในภายหลัง
  • ต่อมาวันที่ 5 เม.ย. 66 ในงานปราศรับใหญ่เพื่อไทย ณ ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี มีการประกาศเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตัวเลข ‘10,000’ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ถูกประกาศออกมาด้วยเช่นเดียวกัน
  • ความสนใจก็สาธารณชนมุ่งตรงมายัง ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ทันทีที่เพื่อไทยประกาศนโยบาย บวกกับข้อสงสัยหลายประกาศ เช่น จะเอาเงินมาจากไหน? จะใช้งบประมาณเท่าไหร่? จะทำได้จริงไหม? และจำเป็นต้องทำหรือไม่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
  • 7 เม.ย.66 เศรษฐาพร้อมกับทีมนโยบายด้านเศรษฐกิจ จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าว ชี้แจงว่า เงินจะมาจากการจัดสรรงบประมาณปี 67 การจัดเก็บภาษี VAT และการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกกว่า 200,000 ล้าน และอาจดูจากงบประมาณจากส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนงบที่จะใช้ เศรษฐา กล่าวว่า จะมีประชาชนกว่า 50 ล้านคนได้รับสิทธิ์ ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท และระบุเพิ่มเติมว่าจะสามารถเริ่มโครงการได้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2567 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงไตรมาส 3
  • ส่วน เผ่าภูมิ โรจนสกุล โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ก็ได้อธิบายเพิ่มว่า โครงการนี้ เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินยุคใหม่ เป็นระบบที่ไร้ตัวกลาง ที่สนับสนุนโดยเทคโนโลยีบล็อกเชนในการเขียนเงื่อนไขลงบนเงินดิจิทัลโดยผูกกับบัตรประชาชนอัตโนมัติ จึงเป็นส่วนที่แตกต่างจากแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ที่เป็นเงินในโลกยุคเก่า
  • หลังการเลือกตั้ง ที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดย 5 ก.ย. 66 ก่อนหน้าวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เศรษฐาได้ระบุในที่ประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ว่า จะพยายามทำโครงการนี้ให้ได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
  • 11 ก.ย. 66 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยไล่เลียงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต และระบุว่า ดิจิทัล วอลเล็ต จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
  • ในวันเดียวกัน เศรษฐา ยืนยันว่า เงื่อนไขรัศมี 4 กิโลเมตร อาจมีการขยายในบางจังหวัดหรือบางเขตตามความเหมาะสม ส่วนระยะเวลาในการใช้ 6 เดือน เรื่องนี้จำเป็นและยังคงเงื่อนไขนี้ไว้ เพื่อห้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นและกระตุ้นครั้งใหญ่  ส่วนเรื่องที่มางบประมาณฯ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายยืนยีนว่า รัฐบาลยึดมั่นในเรื่องของกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก จะไม่แตะทรัพย์สินอื่นของชาติ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนวายุภักษ์ กองทุนผู้ประกันตน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 
  • 17 ก.ย. 66 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช. คลังฯ เผยว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการในเรื่องรัศมี จาก 4 กิโลเมตรนับจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน อาจขยายให้สามารถใช้ได้ภายในบริเวณอำเภอที่อยู่ภายในทะเบียนบ้าน และยืนยันจะ ‘ไม่มีการกู้เงิน’ มาใช้ในโครงการแต่อย่างใด หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จุลพันธ์ไปศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566
  • หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ฝ่ายต่างๆ ก็เริ่มรุมตรวจสอบอย่างเข้มข้นทางการเมือง อาทิ ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง. มีคำสั่ง (15 ก.ย. 66) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 305/2566 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คำสั่งดังกล่าว ระบุว่านโยบายนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนของฐานะทางการเงินการคลังของรัฐตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  • 21 ก.ย. 66 ป.ป.ช. มีการประชุม พิจารณารายงานการเฝ้าระวังการทุจริต โครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ มาพิจารณาดำเนินการวิเคราะห์ว่าควรมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับนโยบาย Digital Wallet ไปยังหน่วยงานใดบ้าง ก่อนจะนำมาสู่การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ
  • ในที่สุด นโยบายนี้ก็เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ 3 ต.ค. 66 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอในการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ ถึง 4 คณะ และยังมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการดังกล่าว
  • ด้านนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ พรรคก้าวไกล-ฝ่ายค้าน ไม่เว้นองค์กรอิสระ ต่างตั้งข้อสังเกตช่องโหว่ ทั้งที่มางบประมาณ ความคุ้มค่าโครงการ เริ่มจาก  6 ต.ค. 66 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของไทยจำนวน 99 คน (โดยมี 2 อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ร่วมลงชื่อด้วย) แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยให้เหตุผลหลักๆ ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งบประมาณของรัฐมีจำกัด ควรเอาเงิน 5.6 แสนล้าน ไปลงทุนด้านอื่นแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นดีกว่า 
  • 9 ต.ค. 66 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช. คลังฯ แถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังนักวิชาการ 99 คน ร่วมลงชื่อคัดค้าน ยืนยันว่า ใช้แหล่งเงินงบประมาณปี 2567 เป็นหลัก
  • ต่อมา วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ก็ยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นนักวิชาการ 99 คน ขอให้วินิจฉัยพร้อมส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทบัญญัติในส่วนของหน้าที่ของรัฐหรือไม่
  • ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ยื่นร้องเพิ่มต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ระงับยับยั้งโครงการ-ตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาเรื่องความมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
  • ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกับแถลงการณ์ 99 นักวิชาการ โดยเคยให้ความเห็นว่า “ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เศรษฐกิจยังเติบโตได้ คือไม่ห้ามแจกเงิน แต่ต้องไม่หว่านแห” นอกจากนี้ในช่วงที่รายละเอียดของนโยบายนี้ยังไม่ชัดเจนนั้น ก็มีเสียงท้วงติงว่า รูปแบบการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอาจเข้าข่ายขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ศ. 2501 ที่ถือเป็นกฎหมายหลักของแบงก์ชาติหรือไม่
  • นอกจากนี้ เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ได้หารือกับนายกฯ เศรษฐา (6 ก.ย. 66) ถึงแนวทางนโยบาย digital wallet และได้แสดงข้อคิดเห็นเรื่องเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน และ ถ้าทำรูปแบบเฉพาะกลุ่ม จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า ซึ่งไม่ใช่ทุกคนต้องการ รวมทั้งเรื่องเสถียงภาพการทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัด ทั้งรายจ่าย หนี้ ขาดดุลเป็นอย่างไร เช่น ช่วยสร้างความเชื่อมั่น วินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลกับนายกฯ ไปว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจภาพรวมตอนนี้ตัวเลขโดยรวม แม้จะขยายตัวแค่ 1.8% ในไตรมาส 2/66 แต่การเติบโตที่ผ่านมาการบริโภคฟื้นตัวเติบโตได้ดี 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสิ่งที่ขาด คือ การลงทุนที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยภาพฟื้นตัวเศรษฐกิจ การกระตุ้นประเภทอื่นสำคัญกว่า
  • 19 ต.ค. 66 ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เข้าชี้แจง กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกด้านการบริโภคภาคเอกชน มองว่า ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้ ยังมีไม่มาก เพราะภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผลของโครงการต่อเศรษฐกิจอาจจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
  • 24 ต.ค. 66  ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ พร้อมทั้งตั้ง “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ พร้อมด้วยองคาพยพ 31 คน
  • 25 ต.ค. 66 เรื่องนี้กลายเป็นกระแสอีกครั้ง  อนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เปิดเผยถึงแนวทางที่เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ตัดสินใจอยู่ 3 แนวทาง ซึ่งต่างออกไปจากการประกาศนโยบายครั้งแรก ได้แก่ 

1.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท  

2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท 

3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

  • 30 ต.ค.66 พิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวถึงโครงการผ่านเวทีเสวนา ‘นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทฯ’ ของวุฒิสภาว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และโครงการอาจมีความล่าช้าไปถึงเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากต้องผ่านการอนุมัติจากสภาฯ
  • 10 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท  ระบุว่า แหล่งเงินทุนในโครงการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมาจากการออกพระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา อีกทั้งมีการปรับเงื่อนไข  โดยมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท  และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ