ไม่พบผลการค้นหา
ครบ 50 ปีที่นักบินอวกาศสหรัฐฯ เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อ 20 ก.ค. หลายประเทศก็ยังคิดจะไปเยือนดวงจันทร์อีกรอบ และผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า 'จีน' มีแนวโน้มจะทำสำเร็จมากที่สุด ทั้งยังมีเป้าหมายสำรวจดวงจันทร์ต่างจากสหรัฐฯ ในอดีตด้วย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. องค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA จัดงานฉลองวันครบรอบ 50 ปีที่นักบินอวกาศอเมริกันนำยานอพอลโล 11 ลงจอดและเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี 1969 โดยภายในงานมีคอนเสิร์ต Walk The Moon การจุดพลุเฉลิมฉลองในช่วงค่ำ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมชมนิทรรศการที่ศูนย์อวกาศฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปิดห้องทำงานที่ทำเนียบขาว เพื่อต้อนรับ 'บัซ อัลดริน' 1 ใน 2 นักบินอวกาศผู้ปฏิบัติภารกิจเยือนดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับการยานอพอลโล 11 ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับย้ำว่า สหรัฐฯ จะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024 และต้องผลักดันภารกิจดาวอังคารให้สำเร็จอีกด้วย

ท่าทีล่าสุดของทรัมป์ ต่างจากข้อความที่เขาเคยเผยแพร่ในทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งครั้งนั้นทรัมป์วิจารณ์ว่า NASA ไม่ควรจะพูดถึงภารกิจเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง เพราะสหรัฐฯ ทำสำเร็จไปแล้วตั้งแต่ 50 ปีก่อน และควรจะพุ่งเป้าไปยังเรื่องใหญ่กว่านี้แทน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทรัมป์ได้อนุมัติงบประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ให้แก่ NASA ไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. เพื่อนำใช้ในโครงการ 'อาร์ทิมิส' ซึ่งจะส่งยานอวกาศสหรัฐฯ ไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งใหม่ แต่ NASA ประเมินว่า งบประมาณทั้งหมดที่ต้องใช้ในโครงการนี้น่าจะสูงถึงประมาณ 21,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.6 แสนล้านบาท)

นอกจากนี้ การจะผลักดันให้โครงการเยือนดวงจันทร์รอบใหม่บรรลุเป้าหมายภายในกรอบเวลาที่กำหนด จะต้องประสานกับบริษัทเทคโนโลยีอวกาศของเอกชน เช่น บริษัท SET ของ 'อีลอน มัสก์' และบริษัท บลูออริจิน แอลแอลซี ของ 'เจฟ เบซอส' เพื่อหารือว่าจะร่วมมือกับ NASA ในด้านใดบ้าง


การเมืองเปลี่ยนไป นโยบายอวกาศก็เปลี่ยนตาม

'บลูมเบิร์ก' รายงานว่า มนุษย์คนต่อไปที่จะส่งข้อความทักทายโลกมาจากดวงจันทร์ อาจจะสื่อสารเป็น 'ภาษาจีน' โดยอ้างอิงการประเมินของ 'เบลน เคอร์ริโค' จากบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ Orbital Gateway Consulting ที่มองว่าจีนน่าจะประสบความสำเร็จก่อนหน้าสหรัฐฯ ในภารกิจส่งยานอวกาศหรือมนุษย์อวกาศไปเยือนดวงจันทร์รายต่อไป

AFP-นีล อาร์มสตรอง บัซ อัลดริน นักบินอวกาศอเมริกัน นาซ่าสหรัฐฯ เหยียบดวงจันทร์-Moon Landing
  • นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน แห่งยานอพอลโล 11 ปักธงสหรัฐฯ บนดวงจันทร์

เคอร์ริโคระบุว่า โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนมีความต่อเนื่องมากกว่าสหรัฐฯ โดยอ้างถึงยานสำรวจอวกาศ 'ฉางเอ๋อ' รุ่นต่างๆ ที่จีนส่งไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกนับตั้งแต่ปี 2013 และล่าสุด ยานสำรวจฉางเอ๋อ 4 ลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2019 ขณะที่โครงการอวกาศบางด้านของสหรัฐฯ ยุติไปในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งมองว่ารัฐควรสนับสนุนภาคเอกชนให้พัฒนาโครงการเหล่านี้แทน เพื่อที่จะได้นำงบประมาณมหาศาลไปใช้ในโครงการเร่งด่วนด้านสวัสดิการและเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ โครงการวิทยาศาสตร์และการสำรวจดวงจันทร์ของจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ช่วยให้สามารถผลิตยานอวกาศด้วยต้นทุนที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับยุค 1960 ที่สหรัฐฯ ยังแข่งขันความเป็นผู้นำด้านอวกาศกับสหภาพโซเวียต

นอกจากนี้ เป้าหมายในการปฏิบัติภารกิจอวกาศของจีนจะอยู่ที่การสำรวจแร่ธาตุและการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งสถานีอวกาศใกล้กับดวงจันทร์ ทำให้การเก็บตัวอย่างหรือรวบรวมข้อมูลมีความแตกต่างจากสหรัฐฯ ในอดีตมาก และแม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะต้องการสนับสนุนโครงการอวกาศของสหรัฐฯ แต่ในปีหน้าก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีก เพราะสหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในเดือน พ.ย.2020

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ผลักดันโครงการสำรวจดวงจันทร์ ได้แก่ อินเดียและอิสราเอล โดยกรณีของอินเดีย ตั้งเป้าจะส่ง 'จันทรายาน' ไปจอดที่ดวงจันทร์เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เกิดเหตุขัดข้อง จึงเลื่อนกำหนดปล่อยยานออกไปก่อน ส่วนยานสำรวจของอิสราเอลลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จในการปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 11 เม.ย. แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าสนับสนุนโครงการต่อไป

ที่มา: Bloomberg/ Cnet/ The Guardian/ NPR

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: