ไม่พบผลการค้นหา
'Fat Tuesday' คือหนึ่งในวันสำคัญของคริสจักรคริสเตียน ขณะที่สวีเดนมีประเพณีทานขนม 'เซมล่า' จน 'กษัตริย์สิ้นชีวิต' - โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย

'Fat Tuesday' ที่อาจแปลตรงตัวได้ว่า 'อ้วน/ไขมันอังคาร' หรือ 'วันอังคารแห่งความอ้วน/ไขมัน' แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งในวันสำคัญของคริสจักรคริสเตียนที่รู้จักกันในอีกหลากหลายชื่อ อาทิ 'Mardi Gras' (มาร์ดิ กรา) ตามภาษาฝรั่งเศส หรือ 'Shrove Tuesday' ในความหมายของการเป็นวันอังคารสุดท้ายก่อนถือศีลอดหรือเทศกาลมหาพรต 

ตามปกตินั้น ชาวคริสเตียนจะเฉลิมฉลอง Fat Tuesday ในช่วง 47 วัน ก่อนถึงเทศกาลอีสเตอร์ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลมหาพรต โดยในปี 2564 Fat Tuesday ตรงกับวันที่ 16 ก.พ.ขณะที่เทศกาลอีสเตอร์ของปีนี้ตรงกับวันที่ 4 เม.ย. 

ล่าสุด เฟซบุ๊กของสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทยโพสต์ภาพพร้อมข้อความเฉลิมฉลองดังกล่าวผ่านเกร็ดประวัติศาสตร์ขนมที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศและวันสำคัญดังกล่าว อย่าง 'semla' (เซมล่า)

โดยระบุว่า "ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ คศ 1771 ระหว่างเวลาอาหารค่ำที่ปราสาทในสวีเดน พระราชาอดอล์ฟ เฟรเดอริคแห่งสวีเดนเพิ่งดื่มด่ำกับอาหารทะเลและแชมเปญ และเสวยเซมล่าไปไม่น้อยกว่า 14 ชิ้นเป็นของหวาน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง เซมล่าเป็นขนมโปรดของพระราชา ดังนั้นเขาจึงตายอย่างมีความสุข เรื่องราวเล่าไว้เช่นนั้น" 

ตามคำอธิบายของสถานทูตนั้น เซมล่า ประกอบด้วยขนมปังโฮลวีตขนาดเล็กปรุงรสด้วยกระวาน สอดไส้ด้วยอัลมอนด์บดละเอียด และปิดท้ายด้วยวิปครีม

ชาวสวีเดนมีประเพณีการกินเซมล่าในวัน Fat Tuesday หรือ fettisdagen ตามภาษาสวีเดน เป็นจำนวนถึง 6 ล้านชิ้นทั่วประเทศ 


โรคหลอดเลือดสมอง

แม้เกร็ดประวัติศาสตร์จากหนึ่งในกลุ่มประเทศนอร์ดิกระบุว่าพระราชาอดอล์ฟสิ้นพระชนม์อย่างมีความสุข แต่การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ยังคงมาจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งตามรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในไทย ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น 

ในปี 2559 พบผู้ป่วย 293,463 ราย ในปี 2560 พบผู้ป่วย 304,807 ราย โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 ราย จนกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย

ทั้งยังสามารถเกิดได้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

เท่านั้นยังไม่พอ รายงานขององค์การอัมพาตโลก (WSO) พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก โดยพบผู้ป่วยจำนวน 80 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 13.7 ล้านคนต่อปี 

ราว 25% เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และ 60% เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกปี 2562 พบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดย 80% ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้

อ้างอิง; CNN, Baltimoresun