ไม่พบผลการค้นหา
ตร. ชุดสายตรวจ ร่วมตรวจสถานที่ได้รับการผ่อนปรน ทั้งนอกเวลาเคอร์ฟิวและช่วงเวลาเคอร์ฟิว หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมเสนอผู้มีอำนาจสั่ังปิดสถานที่ที่ฝ่าฝืนทันที

สำนักข่าวไทยรายงาน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งลาติ เปิดเผยถึงมาตรการผ่อนปรนหลังจากมีประกาศข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย, และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ควบคุม กำกับ ดูแล และกำชับการปฏิบัติในห้วงเวลาดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกพื้นที่

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดชุดตรวจร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เป็นชุดสายตรวจร่วม ปฏิบัติตรวจสถานที่ที่ได้รับการผ่อนปรน ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ช่วงเวลานอกเคอร์ฟิวจำนวน 1,483 ชุด และจัดชุดสายตรวจร่วมช่วงเวลาเคอร์ฟิว จำนวน 1,515 ชุด หากพบการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนนอกเหนือจากกฎหมายที่กำหนดไว้ ก็ให้ดำเนินการตามแนวทางของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 5 ,6 และคณะกรรมการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดต่อไป 

สำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจำหน่ายสุรา ให้เปิดจำหน่ายได้ แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 6) หากมีการฝ่าฝืน ต้องระโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และการซื้อกลับไปบริโภคที่บ้าน ก็ต้องกระทำในลักษณะส่วนบุคคล เป็นเพียงลำพังและไม่สุ่มเสี่ยง ต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น รวมกลุ่ม ตั้งวง มั่วสุม หากมีการฝ่าฝืนก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน 

ในส่วนของกิจการที่ได้รับอนุมัติให้เปิดรับประชาชนที่จะมาเข้าใช้บริการ หลังรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน อาทิ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ ร้านค้าปลีก ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ฯลฯ ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เช่น การรักษาความสะอาด การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ ในกรณีดังกล่าวหากพบว่า มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่ทางราชการกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำตักเตือน ได้ตลอดเวลา

ถ้าหากพบว่ายังมีการฝ่าฝืนและเป็นอันตรายต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้เสนอผู้มีอำนาจสั่งปิดสถานที่ที่ฝ่าฝืนนั้น ส่วนในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศ ปิด 34 สถานที่เสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ถึง 31 พ.ค. 2563  

อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนตามข้อกำหนด ฉบับที่ 5 และ 6 นี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจในการออกคำสั่งของแต่ละจังหวัด เช่น บางจังหวัดมีคำสั่งห้ามจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกำหนดระยะเวลาในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด จึงขอให้ประชาชนโปรดติดตาม รับฟัง ข้อมูลข่าวสารจากทางจังหวัด โดย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ ผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด ในการปฏิบัติตนตามข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนั้นๆ เพื่อเป็นการป้องกัน ยับยั้ง การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชน ให้งด หรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 5 หากผู้ประสงค์จะเดินทาง ต้องมีความจำเป็นดังนี้ ต้องมีเหตุผลความจำเป็น คนเดินทางต้องรู้ความจำเป็นของตนเอง, ต้องมีหลักฐาน พอสมควรที่จะต้องไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ หรือให้เจ้าหน้าที่ดู ซึ่งเหตุผลและหลักฐานดังกล่าวนั้น แม้จะมี แต่ก็ต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนเช่นการตรวจค้นคัดกรอง ระหว่างเดินทาง (จังหวัดระหว่างทางที่ผ่านจะไม่มีการกักตัว เว้นแต่ ตรวจแล้วมีไข้ ก็ต้องนำส่ง รพ.) เมื่อไปถึงปลายทาง ก็ต้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดกำหนดต่อไป