ไม่พบผลการค้นหา
คลี่ปมค่าไฟแพงกระโดด ผ่่านแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุทธการขว้างงูให้ (ไม่) พ้นคอ ในผ่านสนามเลือกตั้ง 2566

ทันทีที่เริ่มมีกระแสวิจารณ์ ก่นด่ารัฐบาลเรื่องค่าไฟแพงรอบล่าสุด ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรค ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ขุนพลคู่ใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาโพสต์ทันควันถึงสาเหตุที่ค่าไฟแพงว่า...เป็นเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

"รู้มั้ยครับ ก่อนผมจะเข้ามาเนี่ย มีการอนุมัติในเรื่องของด้านพลังงาน 5,000 เมกะวัตต์ โดยใครรู้มั้ยครับ? ท่านรู้มั้ย? ก่อนที่จะไม่มีอำนาจเนี่ย เร่งอนุมัติให้ 5,000 เมกะวัตต์ ผมเข้ามา ผมก็หนักใจว่าจะทำยังไงไอ้ 5,000 เมกะวัตต์เนี่ย ก็ได้หาวิธีการเจรจา ทำยังไงมันจะไม่เกิดปัญหา มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย เค้าก็บอก มันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันเป็นสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นทำไว้ เมื่ออนุมัติ 5,000 เมกะวัตต์ เค้าก็ต้องทำตามสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้าทำไว้ ผมยกเลิกไม่ได้นะครับ"  เพจ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ เขียนไว้ก่อนให้อีกหลายสื่อจะนำไปขยายต่อ  

นับเป็นการขว้างงูตัวใหญ่ให้พ้นคอตนเอง แต่งูตัวนี้ทั้งใหญ่และยาว เปรียบไปก็เหมือนโครงสร้างค่าไฟของประเทศไทยที่เป็นเช่นนั้นมาช้านาน และการบริหารในปัจจุบันก็ยังดำเนินการแบบเดิม แถมยังมีคำถามมากกว่าเดิม ดังนั้น ขว้างอย่างไรก็ยากจะพ้นคอตนเอง

ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ออกมาสวนทันควันถึงประเด็นนี้ว่า การอนุมัติ 5,000 เมกกะวัตต์ ให้โรงไฟฟ้าเอกชนนั้น เป็นไปโดยปกติ เพราะจีดีพีช่วงนั้นโตถึง 7% แต่หลังเกิดรัฐประหาร เศรษฐกิจถดถอยแถมเจอวิกฤตโควิดยาวนาน เรื่องที่น่าแปลกยิ่งกว่าคือ รัฐบาลประยุทธ์นี่เองที่เซ็นรับซื้อไฟเพิ่มอีกหลายระลอก ทั้งที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองนั้นมีมากถึง 54% แล้ว 

สฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการอิสระระบุว่า รัฐบาลประยุทธ์ได้อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง (ขนาด 1,400 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์  (ขนาด 540 เมกะวัตต์) ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ รวมถึงเขื่อนใหม่ในลาวอีก 4 แห่ง (ขนาดรวมประมาณ 3,876 เมกะวัตต์) เป็นที่เรียบร้อย ถ้ารวมกำลังการผลิตเหล่านี้เข้าไป กำลังการผลิตรวมจะสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ณ สิ้นปี 2564 ถึง 74%  

สฤณี ยังวิจารณ์การ ‘ขว้างงู’ ให้พ้นคอของรัฐบาลด้วย แน่นอน เธอไม่ปฏิเสธว่า ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ การประมูลของเอกชนมีปัญหาความโปร่งใส แต่ให้ข้อมูลอีกด้านว่า คสช.เองก็ออกคำสั่งปู้ยี้ปู้ยำโครงสร้างการกำกับพลังงานจนเละเทะ และไม่สามารถจัดการโรงไฟฟ้าเอกชนที่ถูกกล่าวหาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ ที่สำคัญ เมื่อเป็นรัฐบาลเองก็อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จำนวนมาก

“โครงการใหม่ของบริษัท (เอกชนรายหนึ่ง) ที่เกิดในสมัยประยุทธ์ไม่ได้มีแต่พลังงานหมุนเวียน/ทดแทนอย่างที่ IO/สื่อแย่ๆ ทำให้หลายคนเข้าใจผิด แต่มีมากถึง 3,123 MW (46% ของโครงการใหม่ทั้งหมด) ที่เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (ส่วนใหญ่เป็น SPP หรือโรงไฟฟ้าขนาดกลาง ไม่ต้องประมูล) และถ้ารวมโครงการทุกรูปแบบแล้ว บริษัทมีโครงการใหม่ไม่น้อยกว่า 6,805 MW เลยทีเดียว” สฤณีระบุ

สำหรับผลงานคสช.นั้นสรุปความจากประเด็นของสฤณีได้ว่า

1. รัฐประหาร 4 วัน นักธุรกิจที่ คสช.เรียกตัวมา ‘ปรับทัศนคติ’ มีชื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ รวมอยู่ด้วย ต่อมา คสช. ใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ’ (คตร.) ชุด ‘ทหารเป็นใหญ่’  และให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยตั้งคณะกรรมการ กกพ.ใหม่ทั้งชุด

2. จากนั้นสหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟผ.ไปร้องเรียนต่อ คตร.ว่าการประมูล IPP รอบที่สาม (ที่กัลฟ์ชนะประมูลรายเดียว กวาดเรียบ 5,000 เมกะวัตต์) ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมกับรายอื่น คตร. กกพ. และกระทรวงพลังงานจึงได้มีตรวจสอบข้อเท็จจริง

3. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล สรุปการตรวจสอบของ คตร. ในการอภิปรายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า “…รัฐให้สัญญาที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านกับเอกชนไปแล้วแต่รัฐเองกลับยังต้องมาลงทุนอีกเกือบ 6,000 ล้าน โดยผลักภาระค่าก่อสร้างสายส่งให้แก่ประชาชน โดยผู้ชนะการประมูลไม่ต้องรับภาระแม้แต่บาทเดียว ดังนั้น คตร. จึงมีมติให้ กกพ. และกระทรวงพลังงาน ทำการเจรจากับกลุ่มบริษัทกัลฟ์และทุนญี่ปุ่น เพื่อยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูล 1 โครงการ และแก้ไขข้อความบางส่วนในสัญญา แต่การเจรจาก็กลับไม่เป็นผล

“เมื่อเกิดการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้บริษัทที่ต้องการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทที่ถูกตรวจสอบไม่ยอมเจรจาต่อ ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่อนุมัติเงินกู้ มิหนำซ้ำยังถูก BOI ระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ส่งผลให้กลุ่มบริษัทกัลฟ์ฟ้อง กกพ. กระทรวงพลังงาน และคตร. ต่อศาลปกครองในฐานละเมิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 จากนั้น 19 ส.ค.2558 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรมว.พลังงาน ควบกับประธาน คตร. ในระหว่างที่การตรวจสอบและการต่อสู้คดียังเป็นไปอย่างเข้มข้น จู่ๆ พลเอกประยุทธ์ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าให้เปลี่ยนตัวประธาน คตร. ก่อนที่อีกไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าอีกฉบับ ให้ยุบ คตร.ทิ้งโดยอ้างเพียงเหตุผลว่าซ้ำซ้อน”

4.กัลฟ์ขอให้ศาลมี "คำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตรวจสอบ หรือนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการ IPP ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไปใช้หรืออ้างอิง" ปลายปี 2564 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา “ให้กระทรวงพลังงานยกเลิกหนังสือของกระทรวงที่มีถึง BOI ในการให้ชะลอการสนับสนุน การส่งเสริมการลงทุนของโครงการของผู้ฟ้องคดี รวมถึงห้ามกระทรวงพลังงานนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการดังกล่าวไปใช้เจรจากับผู้ฟ้องคดี เพื่อยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกต่อไป"

5.อ่านดีๆ จะเห็นว่า ศาลสั่งห้ามไม่ให้ "เอาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง" ไปใช้เจรจากับกัลฟ์ เพื่อยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พูดง่ายๆ คือ ถ้าจะเจรจาแก้ไขหรือยกเลิก ห้ามใช้ข้อมูลนี้ ศาลไม่ได้บอก(และไม่มีอำนาจบอก)ว่า ห้ามแก้ไขหรือยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตลอดไปชั่วนิรันดร และแน่นอนศาลไม่ได้สั่งว่า ต่อไปนี้ขอจงเอื้อประโยชน์เอกชนรายเดิมต่อไปแบบสุดๆ

6. โครงสร้างพลังงานไทยมีปัญหามานานก่อนสมัยประยุทธ์ แต่แย่ลงมากๆ ในสมัยประยุทธ์ นายทุนโรงไฟฟ้าไม่ได้รวยล้นฟ้าติดท็อป 5 เศรษฐีไทยในสมัยยิ่งลักษณ์ มารวยอู้ฟู่สมัยประยุทธ์ และอัตรากำลังผลิตสำรองของระบบไฟฟ้าที่เกินมานานแล้ว ก็เพิ่งมาล้นเกินแบบพุ่งกระฉูดหลังรัฐประหาร 2557 


ค่าไฟแพงกระโดด เพราะกดค่า Ft ไว้เกือบ 2 ปี กฟผ.เป็นหนี้ 1.5 แสนล้าน

มกราคม-เมษายน 2566 ค่าไฟบ้านอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ในจำนวนนี้เป็นค่า Ft เกือบ 1 บาท (93.43 สตางค์) และถ้าไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เจอค่าเอฟทีไปเต็มๆ 1.55 บาท

ทำไมเราจึงรู้สึกว่า ค่าไฟค่อยๆ แพงขึ้นในพักหลัง และรู้สึกมากในครั้งหลังสุดนี้ นั่นเป็นเพราะ ก่อนหน้านี้ กันยนยา 2564 - ธันวาคม 2565 รัฐบาลตรึงราคาค่าไฟ ทำให้ กฟผ. ต้องเป็นคนแบกรับภาระหนี้ รวมแล้ว 150,268 ล้านบาท และเกินศักยภาพที่ กฟผ. จะแบกไหว จึงต้องทยอยคิดเงินกับผู้บริโภคผ่านค่าเอฟทีเพื่อทยอยเอาไปใช้หนี้ที่ กฟผ. แบกไว้

ตามการคำนวณ ของ กฟผ. ถ้าจะใช้หนี้ก้อนนี้ให้หมดเร็วที่สุด ภายในเดือน สิงหาคม 2566 ค่าเอฟทีต้องขึ้นไปเป็น  2.93 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย แต่ไม่มีทางที่รัฐบาลจะให้ค่าไฟแพงกระโดดระดับนั้น เลยทยอยขึ้นเป็น 4.72 บาทก่อน 

ดังนั้น ปัญหาจึงเป็นเหมือนงูกินหาง ต่อให้ราคาพลังงานโลกลด ค่าเอฟทีของไทยก็จะไม่ลด เพราะต้องเคลียร์หนี้เก่าอีกก้อนใหญ่

แล้วไอ้ค่า Ft อะไรนี่มันมาจากไหน ทำไมประชาชนต้องเป็นคนจ่าย เรื่องค่าไฟแพงนั้นซับซ้อน ต้องคลี่กันทีละปม


1) สร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น เพราะคาดการณ์ GDP เว่อร์

เส้นทางการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ยากที่จะโทษรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพราะแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) เป็นกรอบใหญ่ที่จะคำนวณการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า 20 ปี โดยประมาณการณ์จากการคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ หรือ GDP ซึ่งเฉลี่ยไว้ที่ 3.8  จากนั้นจึงไปคำนวณว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกกี่โรง 

นี่เป็นสิ่งที่ทำกันมาตลอดทุกรัฐบาลนับตั้งแต่เริ่มมีการวางแผน PDP อย่างเป็นระบบมาราว 3 ทศวรรษ

แต่โลกความเป็นจริง GDP ของประเทศไม่ได้เติบโตแบบนั้น เมื่อดูตัวเลขย้อนหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นว่า 15 ปีที่ผ่าน GDP เติบโตเฉลี่ยที่เพียง 2.3 

รัฐบาลอภิสิทธิ์ 

2551 GDP 1.7

2552 GDP -0.7 (วิกฤตเศรษฐกิจ Humberger Crisis)

2553 GDP 7.5

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

2554 GDP 0.8 (น้ำท่วมใหญ่)

2555 GDP 7.2 

2556 GDP 2.7 (กปปส.) 

รัฐบาล คสช.

2557 GDP 1.0 (รัฐประหาร) 

2558 GDP 3.1 

2559 GDP 3.4

2560 GDP 4.2

2561 GDP 4.2

รัฐบาลประยุทธ์ 

2562 GDP 2.2

2563 GDP -6.2 (โควิด) 

2564 GDP 1.6

2565 GDP 2.6

แผน PDP ที่เราใช้อยู่นี้ คือแผนของปี 2561 ออกในสมัย คสช. และมีการปรับปรุงในปี 2562 แผนดังกล่าวครอบคลุมการจัดหาไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2561-2580 โดยระบุว่าการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ โดยในปี 2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 77,211 เมกะวัตต์ แบ่งป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน (ณ สิ้นปี 2560) 46,090 เมกะวัตต์ และมีการปลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเก่าหมดอายุช่วง 2561-2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์ 

สรุปง่ายๆ ว่าในอีก 20 ปี จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเกือบสองเท่าของปัจจุบัน ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านี้จะถูกเอาไปคำนวณในค่าไฟฐาน และส่วนหนึ่งก็อยู่ในค่าเอฟทีด้วย 

ช่วงหลังเสียงวิจารณ์ดังหนักข้อมากขึ้นว่า ไทยไม่ได้ใช้ไฟเยอะขนาดนั้น เศรษฐกิจไม่ได้โตขนาดนั้น กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองก็มีเกินมาตรฐานไปไม่รู้กี่เท่า ทำไมยังจะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก!!! แผน PDP ยุครัฐบาลประยุทธ์ฉบับล่าสุดเลยแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการ..... ไม่พูดถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเสียเลย

337,000 ล้านบาท  คือตัวเลขประมาณการขั้นต่ำ ซึ่งชื่นชม กรีเซน นักวิจัยด้านพลังงานศึกษา (2564) ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าแบกภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมจากการลงทุนกําลังผลิตไฟฟ้าเกินสะสม ตั้งแต่ปี 2541- 2563 ไปแล้วเรียบร้อย 


2) ปมสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชน - ปมการันตีกำไร ปตท.

โรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่สูง กฟผ.ต้องกู้เงินมาทำและใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน รัฐไทยพยายามดึงดูดให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยเริ่มแบ่งให้เอกชนมาประมูลสร้างโรงไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2539 แรงจูงใจหนึ่งก็คือ ช่วยประกันความเสี่ยงให้ ถ้าสร้างเสร็จแล้วไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าช่วงไหน รัฐก็จะจ่ายเงินให้เบื้องต้น เรียกว่า ‘ค่าพร้อมจ่าย’ หรือ take or pay แม้ไม่ได้มากเท่าการขายไฟจริงๆ แต่ก็เรียกว่าเป็น เสือนอนกิน และที่กินอยู่นั่นก็คือ เงินภาษีที่เราจ่ายให้รัฐ

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น อิฐบูรณ์ อ้นวงษา จากสภาเพื่อผู้บริโภคให้ข้อมูลว่า ในช่วงโควิด โรงไฟฟ้ากลุ่มราชบุรีพาวเวอร์ที่ใช้ก๊าซถูกให้สั่งหยุดการผลิต ก็จะได้ค่าความพร้อมจ่ายไปเดือนละ 250 ล้านบาท แต่ถ้าได้ผลิตไฟฟ้ารายได้จะตกเดือนละ 1,600 ล้านบาท

โรงไฟฟ้าเอกชน เมื่อราวปี 2544 มีสัดส่วนผลิตไฟอยู่ราว 23% และขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์แก้กฎหมายปลดล็อคส่วนที่ กฟผ.ต้องเป็นผู้ผลิต 50% ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าในระบบเพียง 1 ใน 3 ที่เหลือเป็นเอกชน

เอกชนจึงมีบทบาทสำคัญมาก และมีสัญญาประกันความเสี่ยงดังที่กล่าวไว้ กลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลประยุทธ์พูดตลอดเวลาว่า ทำอะไรไม่ได้ สัญญาเป็นอย่างนั้น แต่อิฐบูรณ์บอกว่ารัฐยังทำได้อีกหลายอย่าง สรุปสั้นๆ คือ

1.ต้องพยายามเจรจาให้มากกว่านี้

2.ต้องตรวจสอบให้เข้มข้นระดับแต่ละโรงไฟฟ้าว่าราคาที่เสนอขาย กฟผ.ทำไมจึงสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าอื่น ราคาลงกว่านี้ได้หรือไม่

3. ค่าความพร้อมจ่าย รัฐเจรจาขอจ่าย 30% หรือ 60% ก่อน หรือชะลอหนี้ได้หรือไม่

4. ชะลอการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ในต่างประเทศที่รัฐบาลไปเซ็นสัญญาไว้

5. ไฟฟ้าทั้งหมดที่เราใช้ ประมาณครึ่งหนึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจเพียงรายเดียวผูกขาดการจัดหา โดยซื้อจากบริษัทลูกและบริษัทหลานที่ตั้งในต่างประเทศ ดังนั้น หนี้ก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลควรต้องเจรจากับรัฐวิสาหกิจดังกล่าวว่าทยอยบริหารหนี้ได้อย่างไร

6.หยุดสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมาก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ขณะที่สฤณียังชี้ให้เห็นด้วยว่าเรื่องก๊าซก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะก๊าซในอ่าวไทยราคาถูกกว่า 2 เท่า รัฐอ้างว่าคุณภาพดีกว่าเหมาะกับการทำปิโตรเคมีจึงขายก๊าซดังกล่าวให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เน้นการส่งออก ทำกำไรเข้าบริษัทตัวเอง ขณะที่การผลิตไฟฟ้านำเข้าก๊าซจากหลายแหล่งรวมถึงซื้อก๊าซเหลว LNG ซึ่งราคาผันผวน ส่วนนี้เรียกว่า pool gas ราคาเฉลี่ยสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย 2 เท่า คำถามก็คือ ทำไมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซถูก ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟจากก๊าซที่แพงทั้งที่ก๊าซในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรสาธารณะ จึงมีข้อเสนอว่า ควรเก็บค่าก๊าซจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาสูงเช่นเดียวกัน แล้วนำเงินส่วนหนึ่งมาอุดหนุนค่าไฟให้ประชาชน

นอกจากนี้ในค่าไฟยังมีค่าส่งก๊าซ หรือเรียกว่า ‘ค่าผ่านท่อ’ รวมอยู่ด้วย โดยค่าผ่านท่อนี้ประกันกำไรให้รัฐวิสาหกิจรายเดียวที่เป็นผู้ดูแลทั้งหมดอยู่ที่ 12.5% – 18% ทำไมจึงสูงขนาดนั้นและควรต้องเจรจาต่อรองอย่างยิ่งในยามที่ประชาชนกำลังยากลำบาก