น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กชวนประชาชนจับตามติคณะรัฐมนตรี ว่า พรุ่งนี้ (22 ม.ค.) จะเห็นชอบมติคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) อย่างไร ทำไมถึงต้องกำกับค่ายาและค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน
นอกจากนี้ น.ส.สารี ยังตอบคำถามสื่อไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องราคายา ค่ารักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลเมืองไทยไว้ 5 ข้อดังนี้
1. ค่ายา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ควรอยู่ภายใต้ price controls มั้ย?
ตอบ : ควรต้องอยู่ภายใต้การควบคุมราคา โดยยาได้ถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายใต้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มาเป็นเวลาหลายปี แต่ที่ผ่านมามีการกำกับเพียงห้ามขายเกินสติกเกอร์ไพรซ์ (Sticker Price) แต่โรงพยาบาลจะติดราคาเท่าไหร่ก็ได้ มาตรการสติกเกอร์ไม่สามารถกำกับราคายาได้ เพราะจากข้อมูลของคณะแพทย์รามาธิบดีที่มีการทำงานวิจัย พบว่า มีราคายาของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 70-400 เท่า และมติ กกร. ที่ผ่านมา ให้ควบคุมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย เช่น ข้อเข่าเทียม ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น
2. ราคาค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ในเมืองไทยขณะนี้ สมเหตุสมผลหรือป่าว?
ตอบ : ไม่สมเหตุผล ราคาแพงเกินจริง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ดังที่ได้พูดไปแล้วค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน สูงกว่ารพ.รัฐ 70-400 เท่า ทำให้เกิดการรักษาที่เกินความจำเป็นและราคาแพง เช่น มีดปอกผลไม้บาดฝ่ามือซ้ายขนาด 1 เซ็นติเมตร นำเข้าห้องผ่าตัดหมดค่าใช้จ่ายสูงถึง 60,821 บาท นิ่วในถึงน้ำดี ถ้ามีการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกราคาสูงถึง 600,000 บาท ขณะที่ไปรักษาโรงพยาบาลของรัฐเสียค่าใช้จ่ายเพียง 8,000 บาท หรือผ่าตัดไส้ติ่งโรงพยาบาลเอกชน ราคา 140,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้เป็นปัญหาการฟ้องคดีคนไข้กรณีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น ผ่าตัดหมอนรองกระดูก ตกลงราคา 430,000 บาท แต่เกิดการแพ้ยา ทำให้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 230,000 บาท เมื่อไม่มีเงินจ่าย แทนที่จะมีการเจรจาต่อรองกับเลือกฟ้องคดี ทำให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องตกเป็นเครื่องมือของการทำกำไร ทำยอด ไม่ต่างจากนักการตลาดในธุรกิจทั่วไป
3. การที่จะเอาไปอยู่ภายใต้ price controls จะทำให้สวนทางกับนโยบายรัฐในการที่จะ promote Thailand as Asean medial hub?
ตอบ : กลุ่มองค์กรผู้บริโภคไม่ได้สนับสนุน medical Hub เพราะบุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด หากส่งเสริมธุรกิจสุขภาพมาก ทำให้เกิดสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญไหลไปภาคเอกชน ค่ารักษาของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเพิ่มสูงมากขึ้นโดยไม่มีเหตุผล แต่ถึงแม้จะมีการทำ medical hub ก็ต้องกำกับค่ารักษาพยาบาล เช่น ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญกับ medical hub มากแต่ก็มีการควบคุมราคา ทั้งที่ค่ารักษาพยาบาลของรพ.รัฐและเอกชนห่างกันเพียง 2.5 เท่า ปัจจุบันสิงคโปร์มีการจัดทำ Medical Fee Benchmark Guideline หาก รพ.เอกชนคิดแพงเกินแนวทางต้องมีเหตุผลสมควร หากไม่มีเหตุผลต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทย มีเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย แต่แก้ปัญหาไม่ได้เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศแคนาดา มีค่ารักษาพยาบาลที่ใกล้เคียงกันหรือเกือบเท่ากันระหว่างโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และโรงพยาบาลจำนวนมากเกือบทั่วโลกแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ยอมให้ธุรกิจโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์
4. คิดว่าจะมีผลกระทบกับการดำเนินการ และแผนพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาลโดยรวมป่าว?
ตอบ : การควบคุมค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน มีตัวอย่างโรงพยาบาลเอกชนที่กำไรในระดับร้อยละ 5-6 ก็สามารถสร้างตึกใหม่ได้ การกำกับค่ารักษาพยาบาลอาจจะทำให้ลดกำไรลงไปบ้าง หากไปติดตามกำไรสุทธิของโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งปัจจุบันมีกำไรสุทธิสูงถึง ร้อยละ 33.7 ในไตรมาศที่สามของปี 2561 ซึ่งสูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศ และไม่มี รพ.เอกชนไหนต้องการให้กำกับค่ารักษาพยาบาลแต่เป็นภารกิจของรัฐที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และระบบสุขภาพของประเทศ
5. มีทางออกที่เป็นที่พอใจทุกฝ่าย (Any approach to win-win resolution???)
ตอบ : หากโรงพยาบาลเอกชนคิดราคาที่เป็นธรรม ไม่แพงจนเกินไป จำนวนผู้ใช้บริการน่าจะมากขึ้น และอาจจะเท่ากับกำไรที่ผ่านมาก็ได้ แต่มีจำนวนผู้ไปใช้บริการมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง