ไม่พบผลการค้นหา
รพ.เอกชนชี้ราคายาควบคุมโดย พ.ร.บ. ไม่ได้ขึ้นเองตามอำเภอใจ ย้ำประชาชนไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลหากรู้สิทธิ์ของตนเอง ห่วงการกำกับราคายาส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ

สมาคมโรงพยาบาลเอกชน นำโดย นพ. พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน, นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน, นพ. สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ที่ปรึกษาและอดีตนายมสมาคมโรงพยาบาลเอกชน, น.อ. (พิเศษ) นพ. ไพศาล จัทรพิทักษ์ อุปนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และ นพ. ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวชี้แจง หลังคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้เพิ่ม "เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์” ในบัญชีรายการสินค้าและบริการควบคุม

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า ราคายาที่โรงพยาบาลเอกชนตั้งนั้นอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2541 และมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2561 ตามคำนิยามของประกาศของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ "ยา และสารอาหารทางหลอดเลือด รวมต้นทุนการจัดซื้อจัดหา การขนส่ง การจัดเก็บรักษาที่ได้มาตรฐาน การใช้สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุภัณฑ์ ระบบสารสรเทศทางเภสัชกรรมและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริการของบุคลากรที่จำเป็น ในขั้นตอนการจัด เตรียม และแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์ จนถึงการบันทึก และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากราคายาที่ออกมาในใบเสร็จจากโรงบาลเอกชน จะดูมากกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล เพราะค่ายาของโรงพยาบาลรัฐบาลนั้น ไม่ได้มีต้นทุนแฝงอย่างที่โรงพยาบาลเอกชนต้องรับภาระทั้งหมด

“ต้นทุนที่บันทึกในราคายาของโรงพยาบาล มิใช่ต้นทุนตรงของยาอย่างเดียว มันมีต้นทุนทางกฏหมายที่กฏหมายได้ให้เราต้องบันทึกลงในหมวดนี้ ในประเด็นตรงนี้ใบเสร็จของภาคเอกชนจึงไม่เหมือนของภาครัฐบาล” นพ. เฉลิม กล่าวเสริม

ประเด็นที่สองที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแถลงคือ ความกังวลด้านค่ารักษาพยาบาลของประชาชน หลังมีกระแส "คนไทยล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล” โดย นพ. พงษ์พัฒน์ ชี้ว่า แท้จริงแล้วประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนที่รองรับค่ารักษาพยาบาลของประชาชนชาวไทยที่ครอบคลุมกว่าร้อยละ 99 โดยอีกประมาณร้อยละ 1 ที่เหลือเป็นคนงานต่างชาติที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย

กองทุนหลักที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของประชาชน ประกอบไปด้วย (1) สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือที่รู้จักกันในนามสิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง ครอบคลุมประชาชนประมาณ 46-47 ล้านคน (2) สิทธิประกันสังคม ครอบคลุมประชาชนประมาณ 10 ล้านคน (3) สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ประมาณ 5 ล้านคน

ทั้งสามกองทุนข้างต้นคุ้มครองประชาชนคนไทยให้สามารถได้รับการรักษาฟรีเมื่อเจ็บป่วยในโรงพยาบาลรัฐบาล อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีความประสงค์ที่จะไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอื่นที่ตนไม่มีสิทธิ์คุ้มครองจาก 3 กองทุนข้างต้น โรงพยาบาลเอกชนก็เข้ามารองรับในฐานะตัวเลือกของประชาชน ส่วนกรณีการรักษาพยาบาลฉุกเฉินหรือวิกฤตสีแดง (ถึงแก่ชีวิต) ประชาชนสามารถเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชน เมื่อพ้นวิกฤต (72 ชั่วโมง) แล้วจึงเข้ารักษาตัวตามโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิ์จากกองทุนหรือหากประสงค์จะรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนต่างด้วยตนเอง

“เมื่อเราเลือก เราต้องเตรียมตัวของเรา เมื่อเลือกเสียเงินก็ต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง” นพ. พงษ์พัฒน์ กล่าว

ประเด็นสุดท้ายที่ทางสมาคมชี้แจงคือผลกระทบจากการควบคุมราคายาต่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของไทย นพ. พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารับการบริการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน มีจำนวนท้ั้งสิ้น 4.23 ล้านราย โดยในปี 2559 ภาคธุรกิจพยาบาลก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจของประเทศถึง 99,427 ล้านบาท โดยคิดเป็นรายรับ 234,327.2 ล้านบาท และรายจ่าย 134,900.2 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดซีแอลเอ็มวี (CLMV: กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)

หากมีการกำกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน อย่างที่กระทรวงพาณิชย์กำลังมีความพยายามในการผลักดันนั้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องแบกภาระต้นทุนโดยตรง ไม่เหมือนโรงพยาบาลรัฐบาล ส่งผลให้จำกัดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาด้านวิจัยและเทคโนโลยี ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ทั้งที่ปัจจุบันการรักษาพยาบาลของประเทศไทยไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก