มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาหัวข้อ “โลกเปลี่ยน อาชีพเปลี่ยน เราต้องปรับตัว” ซึ่งอยู่ภายในกิจกรรม “เปิดบ้านธรรมศาสตร์มหกรรมวิชาการและความยั่งยืน” หรือ Thammasat Sustainability and Open House 2020 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 300 คน
วินิจ ศิลามงคล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและภาษีอากร เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจพบว่ามีนักศึกษากว่า 50% ที่มีความชอบหรืออยากเรียนสาขาวิชานั้นๆ และสามารถเรียนจบจนออกไปทำงานตามความต้องการแรกเริ่มได้ แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าอีกไม่ต่ำกว่า 10 ข้างหน้า ผู้ที่อยู่ในแต่ละวิชาชีพจริงๆ จะไม่ใช่ผู้ที่สำเร็จการศึกษามาตรงสาย ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นการเลือกเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จำเป็นต้องฟังและหาข้อมูลให้มาก
วินิจ กล่าวว่า การทำงานในยุคนี้จะเป็นยุคของคนเจเนอเรชั่น Z จึงจะเห็นองค์กรต่างๆ พยายามปรับตัวและออกแบบองค์กรเพื่อนำคนเจเนอเรชั่น Z เข้ามาทำงาน ซึ่งจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาวิชาใดก็จะหนีไม่พ้นเรื่องการมีเทคโนโลยีเป็น skill set
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่าการทำงานในอนาคตจะทำงานนอกสำนักงาน หรือ work from anywhere ด้วยการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกัน ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนสาขาใดก็ตามจำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย” วินิจ กล่าว
วินิจ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning และมองว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาทดแทนการใช้คน แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าอย่างไรทุกอย่างก็ยังจำเป็นต้องใช้คน ส่วนตัวจึงคิดว่าโอกาสในการสูญเสียงานจะไม่มาก เพียงแต่จะเกิดตำแหน่งใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น
วีรพล วีระโชติวศิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ดไวซอรี่ จำกัด กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปไวมาก ฉะนั้นทักษะที่อยากฝากไว้คือต้องรู้จัก dynamic หรือการเคลื่อนที่-ยืดหยุ่น-เปิดกว้าง โดยไม่ใส่แม่กุญแจหรือล็อคตัวเองไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น คืออย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าตัวเองต้องเป็นอะไร แต่ต้องเข้าใจว่าตัวเองให้ความสำคัญหรือสนใจอะไรบ้าง เพราะโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และอาชีพในอนาคตก็มีอีกมากมาย
“ผลการสำรวจจำนวนมากชี้ชัดว่า วิชาหลักตามที่เรียนอยู่ในคณะต่างๆ นั้นจะได้ใช้เพียงแค่ 1-2 ปีแรกของการทำงานในสถานที่แรกเท่านั้น ส่วนงานที่สอง สาม สี่ ห้า จะอาศัย Soft skill ทั้งนั้น” วีรพล กล่าว
วีรพล กล่าวอีกว่า อยากให้เด็กรุ่นใหม่มองอาชีพใน 2 ภาพ ภาพแรกคือเราอยากทำอะไร ต้องเก่งอะไรบ้างก็ให้ฝึกฝนไว้ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอาชีพเหล่านั้นย่อมมีวันหมดอายุ จึงอยากให้มองอีกภาพด้วย นั่นคือตัวเรามีทักษะอะไร มีความสามารถ มีต้นทุน หรือเครือข่ายอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยรองรับกับการทำงานในอนาคตด้วย
ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ศิษย์เก่า มธ. ในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้าน กล่าวว่า กลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้านเกิดขึ้นมาจากการเห็นว่าเมื่อมีวิกฤต ไม่ว่าใครจะประกอบอาชีพอะไรอยู่ก็ล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น การตั้งกลุ่มฯ ทำให้เพื่อนๆ หรือพี่น้องชาวธรรมศาสตร์ที่ทำงานหรือเป็นเจ้าของกิจการที่หลากหลายมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตรงนี้สะท้อนว่า connection เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอนาคตจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเกิดปัญหาเมื่อใด ต่อให้เราเก่งแค่ไหนแต่เมื่อเกิดปัญหาหรือวิกฤต มนุษย์ไม่อาจอยู่รอดด้วยตัวคนเดียวได้ ฉะนั้นการทุ่มเทให้ตัวเองเข้ามาอยู่ในสังคมหรือ community ดีๆ จะมีส่วนหนุนเสริมอนาคต