นายบริสุทธิ์ กาสินพิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมบายเออไกด์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท โฮมดอทเทค จำกัด เปิดเผย หลังจากทำธุรกิจสื่อ ทำนิตยสารด้านอสังหาริมทรัพย์มา 25 ปี พร้อมกับทำรายการทีวี รายการวิทยุ จัดอีเวนท์งานมหกรรมบ้าน-คอนโดและสินเชื่อแห่งปี มานานหลายปี ก็ต้องยอมรับว่า ธุรกิจสื่อในปัจจุบันถูก disrupt (กำจัด) ด้วยเทคโนโลยีอย่างมาก
ดังนั้น เมื่อปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา บริษัทจึงได้เริ่มหารือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกัน ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน data science (วิทยาศาสตร์การจัดการข้อมูล) และ machine learning (การประยุกต์ใช้สถิติขั้นสูงเพื่อสร้างรูปแบบข้อมูลและการคาดการณ์จากรูปแบบเหล่านั้น) เข้ามาประยุกต์กับการสร้างเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือ Prop Tech
ด้วยจุดแข็งของ โฮมบายเออฯ ที่มีผู้เข้าชมเวบไซต์เพื่อค้นหาข้อมูลด้านบ้านและที่อยู่อาศัยเดือนละกว่า 1 ล้านราย รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศไทย ทำให้บริษัทมีข้อมูลที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นแอปพลิเคชั่น ตอบโจทย์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
(บริสุทธิ์ กาสินพิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมบายเออไกด์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท โฮมดอทเทค จำกัด)
"จากอดีตเราเป็นคนให้ข้อมูลผู้สนใจซื้อบ้านและอสังหาริมทรัพย์ให้ครอบคลุมรอบด้าน ส่วนที่เหลือผู้บริโภคต้องนำข้อมูลไปย่อยเอง ไปตัดสินใจเลือกเอง มาวันนี้เราสร้างบริษัท โฮมดอทเทค เพื่อเป็นทางออกให้กับผู้บริโภค ซึ่งต้องการรู้ข้อมูลเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ทำเลที่ตั้ง ราคา ที่เหมาะสมกับตัวเอง สร้าง journey ของข้อมูลลูกค้าได้ ขณะที่ พันธมิตรธุรกิจ เช่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มต้องการ" นายบริสุทธิ์ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก และสถาบันการศึกษาก็ต้องสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์ธุรกิจ ดังนั้น ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงมีการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ เป็นการจับคู่กับโจทย์ของภาคธุรกิจและโจทย์งานวิจัยหลายสิบชิ้น เช่น เรื่องหุ่นยนต์ เรื่อง data science เรื่อง machine learning เป็นต้น
"หวังว่า งานวิจัยและการทำงานร่วมกันของ โฮมดอทเทคนี้ จะเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อมาทำนายหรือวิเคราะห์ ช่วยให้ผู้บริโภครู้ว่าตัวเองต้องการอะไร หาของที่ต้องการได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และราคาถูก ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถรู้ความต้องการของตลาด" รศ.ดร.สุพจน์ กล่าว
ด้านนายภานพ ศรีประโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โฮมดอทเทค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทนี้มีโฮมบายเออไกด์เป็นเจ้าของ และมีทีมงานนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การวิเคราะห์ ประมวลผล ตีความข้อมูล อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทดลองนำแอปพลิเคชันตัวแรกออกมาทดลองใช้แล้ว ได้แก่ Home Event ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับผู้เข้าชมและผู้ประกอบการในงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ ซึ่งผู้ใช้งานจะได้รับข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามาในอุปกรณ์สื่อสาร โดยไม่ต้องหยิบกระดาษให้วุ่นวาย ขณะที่ ผู้ประกอบการก็จะทราบถึงข้อมูลของผู้บริโภค เช่น เพศ อายุ และความต้องการซื้อเบื้องต้น เพื่อนำเสนอสินค้าหรือปิดการขายได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประมาณกลางปี 2561 นี้ บริษัท โฮมดอทเทค จำกัด จะเปิดตัวบริการใหม่ คือ Home Hop ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือ prop tech อีกชุดที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการค้นหาบ้านหรือที่อยู่อาศัยได้จากไลฟ์สไตล์ ความต้องการเฉพาะบุคคล และเป็นการประมวลผลความต้องการจากการใช้เทคโนโลยี machine learning เข้ามาช่วยในการนำเสนอผลลัพธ์ให้ ซึ่งนับเป็นการค้นหาแบบใหม่ สำหรับผู้ต้องการซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น Home Dashboard สำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใช้เป็นเครื่องมือบริหารการตลาด เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และ Home Buyers Analytics ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์แบบ demand side หรือความต้องการของตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้ามีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจทำโครงการต่างๆ เป็นต้น
ภานพ ศรีประโมทย์ (คนกลาง) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โฮมดอทเทค จำกัด และคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย