สาเหตุหลักและสาเหตุใหญ่ในการเกิดค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน หนีไม่พ้นการเผาพืชไร่โดยเฉพาะข้าวโพดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยและประเทศรอบข้าง ได้แก่ ลาว กัมพูชา และเมียนมา มีนโยบายการปลูกข้าวโพดเพื่อการส่งออก โดยหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวโพด เกษตรกรมักเลือกใช้วิธีการเผาซากตอข้าวโพด เพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลิตผลต่อในอนาคต
จากข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบุว่า ลาว กัมพูชา เมียนมา มีนโยบายส่งเสริมให้ขยายการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อการส่งออก โดยต่างต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาพันธุ์จากประเทศไทย เนื่องจากยังขาดเทคโนโลยีในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นของตนเอง
ทั้งนี้ มีการนำเข้าข้าวโพดจำนวนมากมายังประเทศไทย ซึ่งอาจสอดคล้องกันกับอัตราของการเก็บเกี่ยวและเผาพื้นที่ โดยรายงานสถิติการนำเข้าสินค้า เรียงตามมูลค่าสูงสุด 10 อันดับ จากสำนักงานศุลกากรภาคที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ระบุว่า ข้าวโพดนับเป็นสินค้าอันดับที่ 2 ที่ถูกนำเข้ามายังพื้นที่ โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 13,200,999,565 บาท เป็นรองจากพลังงานไฟฟ้าในอันดับแรกที่ 24,619,660,879 บาท
ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่มีการเลือกใช้เอทานอล แอลกาฮอลที่ได้จากอ้อย ซึ่งมีปลูกจำนวนมากในพื้นที่ของประเทศไทย และถูกนำมาใช้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เช่นเดียวกันกับกรณีของข้าวโพด ที่หลังจากการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะมีการเผาพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการทำลายผลิตผลส่วนเกิน แม้จะมีการอ้างว่าเอทานอลที่ทำมาจากพืช มีส่วนช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกก็ตาม
ปัจจุบัน ไทยยังไม่มีการผ่านกฎหมายอากาศสะอาด และยังไม่มีความร่วมมือใดๆ ระหว่างประเทศ หรือความริเริ่มในการรับมือกับปัญหาฝุ่นข้ามชาติ ในบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาพืชไร่จำนวนมาก จนส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นขวัญพิษ
นิเคอิ เอเชีย เคยรายงานว่า คุณภาพอากาศของประเทศไทยมักจะแย่ลงในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งโดยทั่วไปเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. ถึง ก.พ. และจะแย่ไปจนถึงประมาณเดือน เม.ย. เนื่องจากชาวไร่ทำการเผาไร่อ้อยเพื่อถางหน้าดิน นอกจากนี้ มลพิษจากรถยนต์เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็ประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงเช่นกัน
นิเคอิ เอเชีย ยังรายงานระบุอีกว่า รัฐบาลไทยใช้เครื่องบินที่มีเทคโนโลยีการหว่านเมฆโดยหวังว่าจะทำให้เกิดฝนตก และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในเขตเมือง แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการเหล่านี้ยังน้อยไปและสายเกินไป นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติได้อภิปรายร่างกฎหมายหลายฉบับ เพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศ แต่รัฐสภายังไม่ได้อนุมัติกฎหมายใดๆ เนื่องจากการต่อต้านจากภาคธุรกิจ ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของกฎหมาย
นอกจากปัญหาสุขภาพของประชาชนแล้ว การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาวะตกต่ำ สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวกลยุทธ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวใหม่ ที่เน้นการพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง จนกว่าปัญหาฝุ่นควันพิษไทยจะได้รับการแก้ไขอย่าางยั่งยืน ทั้งจากภายในและผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค