ไม่พบผลการค้นหา
เวทีอภิปราย ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ ในรัฐธรรมนูญและรัฐไทย ชี้ ไทยยังติดปัญหาประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง แนะรัฐเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ-สิทธิเสรีภาพ แนวคิดยุทธศาสตร์ชาติ 'ล้าหลัง' ไม่ควรวางไว้ถึง 20 ปี

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวในเวทีอภิปรายในหัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ ในรัฐธรรมนูญและรัฐไทย" ว่า ตลอดการบริหารงานของรัฐบาลนี้ทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่เศรษฐีไม่กี่ครอบครัว แต่คนจนไม่ได้อะไร จนเกิดช่องว่าง 20 เท่า และปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 เรื่องความเหลื่อมล้ำของโลก เป็นภาวะดูดเงินจากกระเป๋าคนจนไปเลี้ยงคนรวย เห็นได้จากเงินเพื่อผ่อนบ้าน ราคา 3 ล้านบาท ผ่อนหมดราคาอยู่ที่ 6 ล้านบาท ส่วนต่างไปตกอยู่ที่นายทุน ในขณะที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น แต่ไทยร้อยละ 6-10 เรียกว่าต้องทำงานหนักตลอดชีวิต และเป็นที่มาของหนี้ครัวเรือนที่พุ่งไปถึงร้อยละ 80 ของจีดีพี 

นายสมยศยังกล่าวถึงมาตราการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แข็งแกร่ง แต่เป็นการกินบุญเก่า ไม่มีนโยบายใหม่ๆ เน้นการแจกเงิน ซึ่งต้องจับตาว่าใครจะได้ประโยชน์ เพราะอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือนายทุน เพราะมีการกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะร้านเท่านั้น ร้านค้าชุมชนรากหญ้าไม่ได้อะไร รวมถึงเรื่องการส่งออก ซึ่งคงคาดหวังไม่ได้อาจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 5-7 แต่ต้องดูเนื้อแท้ของไทยด้วย เราเป็นฐานการผลิตของต่างชาติ ที่สุดท้ายต่างชาติก็ซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จากบริษัทแม่ ต่างประเทศเข้ามา แต่คนไทยไม่ได้อะไร ได้เพียงค่าจ้างเท่านั้น

อย่าไรก็ตาม ปัญหาคือเรามีรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร ที่ล่าสุดยังถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบในถ้อยคำที่ว่า "จะปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ" สะท้อนว่ามีอะไรหรือไม่ ทั้งที่เป็นฉบับที่ตัวเองทำขึ้นมา แล้วจะใช้อะไรไปจัดการกับคนที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิด 'สภาปริ่มน้ำ' 'สภาพิการ' ปรากฎการณ์พรรคเล็กเล่นตัวเพื่อให้ได้ค่าตัวมากขึ้น มีการต่อรองทางการเมืองของพรรคการเมืองลูกผสม ไม่ใช่พรรคที่เกิดจากการร่วมอุดมการณ์เดียวกัน จึงมองว่าทางรอดทางเศรษฐกิจต้องเอารัฐบาลพลเรือนกลับมา และเป็นประชาธิปไตยให้ได้ รวมถึงนำสิทธิเสรีภาพกลับคืนมา

ด้าน นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (WE FAIR) กล่าวว่า วันนี้โจทย์สำคัญ คือเรื่องรัฐสวัสดิการที่ถดถอย จำเป็นที่รัฐบาลต้องสร้างรัฐสวัสดิการเพิ่มเติม พร้อมๆ กับประชาธิปไตย อย่างเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตร 30 บาท ที่ยังพบว่ามีปัญหาร่วมจ่าย เรื่องของระบบการศึกษา ที่ลดสิทธิการเรียนฟรีมาแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งหมดนี้ ทำให้ประเทศไทยยังมีช่องว่างของคนรวยคนจนจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข รวมถึงการแก้ไขเรื่องสำคัญ คือสิทธิเสรีภาพ ยุทธศาสตร์ชาติที่มากำหนดกรอบของประเทศ กฎหมายการเลือกตั้ง รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และย้ำว่าต้องทำพร้อมๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า หลายคนคงมีความเห็นร่ว��กันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไขเพราะแย่งอำนาจประชาชนทำให้อำนาจของประชาชนลดลง ส่งเสริมกลุ่มทุน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าทั้งหมดขาดความสมดุลของอำนาจ และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตนเองตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยยังใช้นิติรัฐในการปกครองอยู่หรือไม่ รวมถึงการตั้ง ส.ว. มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.กี่คนและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงเรื่องของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ไม่ครบถ้วน 

โดยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาก็ไม่ไปตอบและไม่มีการชี้แแจงเหตุผล แล้วรัฐธรรมนูญจะมีความหมายอะไรหากไม่เคารพ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ และทั้งหมดจะส่งผลให้บ้านเมืองเกิดปัญหา นายพิชาย ยังกล่าวว่า การที่ให้ ส.ว.เข้าไปร่วมพิจารณากฏหมายที่จะมีการปฏิรูป ส่วนใหญ่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง หากให้พิจารณากฏหมายปฏิรูปแล้วจะได้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ดังนั้น ไม่มีทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ 

นายพิชาย ยังกล่าวอีกว่า ระบบเลือกตั้งปัจจุบันเป็นระบบที่ข่มขืนใจประชาชน ที่กาครั้งเดียวแต่ให้เลือกทั้งคนและพรรค ดังนั้นจะต้องมีการแก้ไขให้แยกกันไป รวมถึง ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค แต่ควรเป็นอิสระ ขณะที่การปฏิรูปตำรวจ ต้องแยกการสอบสวนออกไปอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ เรื่องของแนวคิดยุทธศาสตร์ชาติ ตนเองมองว่าเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง และจะต้องมีการทบทวน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่ควรวางไว้ถึง 20 ปี