นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวผ่านรายการ “มองรัฐสภาไทย” ในหัวข้อ "มั่นใจบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บรรเทาภาระผู้มีรายได้น้อย" โดยนายสันติกล่าวว่า ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐสร้างคน คนสร้างสร้างชาติ”ของพรรคพลังประชารัฐ มีหลายนโยบายผสมกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในยุครัฐบาลก่อน ก็ถูกแปลงให้เป็นบัตรประชารัฐในรัฐบาลยุคนี้ มารดาประชารัฐ ก็มีน้ำจิ้มออกไปบ้างแล้ว ดังที่เห็นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ อันนั้นคือเสี้ยวเล็กๆ ยังไม่ได้ใส่ลงไปเต็มที่ ส่วนอื่นๆ ก็มีเรื่องแรงงาน ที่เข้าใจผิดกันมากว่าเป็นการขึ้นค่าแรงที่ไม่มีเหตุมีผล ทั้งที่ข้อเท็จจริงการปรับค่าแรงเพื่อให้ประเทศทั้งประเทศได้รับประโยชน์ไปพร้อมกันจะต้องปรับทักษะผู้ทำงานไปพร้อมกันด้วย
นายสันติ กล่าวถึงกรณีเกิดการตั้งคำถามว่านโยบายบัตรประชารัฐถือเป็นการซื้อความนิยมจากประชาชน ว่า เราคุ้นเคยกับคำว่าประชานิยมมานาน ประชานิยมคือทำอะไรก็ได้ให้ประชาชนนิยม จะผิดจะถูกไม่ว่ากัน แต่ประชารัฐไม่ใช่ มันเป็นคำสองคำมารวมกัน คือ ประชาชน กับ รัฐ ซึ่งเป็นความร่วมไม้ร่วมมือเพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง
“บัตรประชารัฐคือนโยบายในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะหากพวกเขาไม่อิ่มท้อง ไม่มีข้าวจะกิน เจ็บป่วยไม่มียารักษาโรค จะมีแรงลุกขึ้นมาทำมาหากินหรือวางแผนชีวิตในอนาคต หรือไม่ หลังจากขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน เราทราบว่าแต่ละที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแตกต่างกัน อาชีพที่เหมาะสม ที่ควรจะสร้างให้ ทักษะที่ควรจะต้องปรับ อันนี้ถือเป็นงานถัดไปในการสร้างความยั่งยืน
ดังนั้น หากจะบอกว่าบัตรประชารัฐเป็นกุศโลบายในการหาเสียงให้ ส.ส.ในพื้นที่ คงไม่ยุติธรรม เพราะแม้กระทั่ง ส.ส.ในพื้นที่เองก็ไม่ได้จับเงินที่ไปแจกให้ประชาชน เงินลงไปที่ถุงเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน โดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะเขาถือบัตร เขาสามารถเอาบัตรนี้ไปประทังชีวิตเพื่อให้มีแรง แล้วเดี่ยวมาฝึกอาชีพกันต่อไป”
นายสันติ กล่าวด้วยว่า บัตรประชารัฐจะเรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็ได้ ที่ต้องให้เครดิตกับรัฐบาลที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ทำโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้และพวกเราสามารถมาใช้ต่อได้ และมีฐานข้อมูล
ที่จริงการอัดเม็ดเงินลงไปให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง หลายรัฐบาล และมักจะเกิดช่องว่างให้เงินสูญหายระหว่างทาง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 ต่อเนื่องมาจนรัฐบาลปัจจุบันตัดช่องว่างดังกล่าวทิ้ง เวลาใส่เงิน 100 บาทลงไป ประชาชนได้รับเงิน 100 บาทเต็มจำนวน
สำหรับบัตรประชารัฐ ผู้ถือบัตรจะได้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยแบ่งเป็น ใครรายได้เกิน 30,000 บาท ต่อปี ก็จะได้เดือน 200 บาท ส่วนใครรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ได้เดือนละ 300 บาท ซึ่งทุกเดือนสามารถนำไปซื้อของที่จำเป็นต่อการอุปโภค บริโภค เช่น ข่าวสาร กะปิ น้ำปลา นอกจากนี้ยังมีค่าเดินทาง วงเงิน 500 บาท ช่วยเรื่องค่าหุงต้ม 45 บาท ต่อ 3 เดือน อันนี้คือการใช้งานปกติของบัตร แต่ก็จะมีมาตรการพิเศษเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว เช่น ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ก็มีเงินของขวัญปีใหม่ให้ 500 บาท รวมถึงค่าใช้จ่ายให้ผู้สูงอายุไปตรวจร่างกายอีก 1,000 บาท ปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ก็เติมให้อีก 1,000 บาท ในรูปแบบให้ครั้งเดียว หรือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุด ก็ใส่เพิ่มเติมให้ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
ด้าน น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งโครงการประชารัฐต่างๆ ประชาชนชอบมาก โดยเฉพาะบัตรประชารัฐ เป็นอะไรที่ทุกคนอยากได้ แต่ช่วงแรกที่เปิดลงทะเบียน กลับมีคนไปลงทะเบียนน้อย พอเงินออกประชาชนมาถามเพราะเสียดาย พอเปิดครั้งที่สองก็มีประชาชนมาลงทะเบียนเยอะขึ้น เป็นเรื่องถูกต้องที่ใครๆก็ชอบเงิน ใครๆก็อยากได้เงิน แต่ส่วนตัวจากการทำงานอยู่กับประชาชนในพื้นที่ คนที่ได้บัตรประชารัฐคือคนจน บ้านเป็นสังกะสี ทุกครั้งที่เจอเขาจะบอกกับตนเองว่า เขาใช้เงินจากบัตรนี้ เงินนี้ช่วยเขาจริงๆ เพราะใช้ในการซื้อข้าวสาร น้ำปลา
ดังนั้น เงินจากบัตรนี้ประชาชนชอบ เพราะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพวกเขา ส่วนกรณีที่มีการโพสต์รูปในลักษณะใส่สร้อยทอง มีบัตรประชารัฐผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้น ส่วนตัวมองว่า อันนั้นคือโซเชียล โซเชียลเป็นอะไรที่ใครจะถ่ายรูปโพสต์ แล้วก็บอกว่าฉันมีบัตรประชารัฐใส่ทองเส้นใหญ่ ฉันมีบัตรประชารัฐ แล้วก็เอาบัตรประชารัฐไปซื้อไอโฟน มันเป็นการโจมตีของพรรคการเมืองเด็กๆ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้วิจารณาญาณในการเสพโซเชียล เพราะวันนี้มีประชาชนได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนจากบัตรประชารัฐมาก แต่การแก้ปัญหาความยากจนก็มีอีกนโยบายหนึ่งเช่น การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาทักษะอะไรต่างๆ
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านโจมตีว่านโยบายนี้เอื้อนายทุน เพราะต้องไปใช้บัตรรูดซื้อในร้านใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่เป็นความจริงเพราะร้านค้าเล็กๆตามหมู่บ้าน หรือแผงขายของในตลาดนัดก็สามารถใช้บัตรประชารัฐได้ เพราะมีแอปพลิเคชันถุงเงิน ที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานได้ทันที ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปซื้อไกล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนด้วย แต่ทั้งนี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น
“เนื่องจากเราถูกโจมตีหนักมาก จนทำให้คนเข้าใจว่าบัตรประชารัฐสามารถซื้อได้แค่ที่ร้านใหญ่ๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ใครๆก็รับบัตรประชารัฐได้ เพียงแค่คุณขายของ โดยให้ไปลงทะเบียนที่จังหวัด พอลงทะเบียนเสร็จเขาจะให้หนังสือรับรองมา จากนั้นถือไปที่ธนาคาร แล้วก็รอให้แอปฯ ใช้งานได้ ส่วนเวลาใช้ก็เปิดแอปถุงเงินแล้วสแกนบาร์โค้ดหน้าบัตรประชารัฐ ก็สามารถหักเงินจากในบัตรมาใช้ได้สำหรับซื้อสินค้า”