ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการ Talking Thailand ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ถึงสถานการณ์ลอบวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เรื่องระเบิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในด้านความมั่นคง แต่ที่น่าตกใจวันนี้สถานการณ์ยังไม่จบ แต่ก็เห็นคนออกมาคาดการณ์ฟันธงว่าเหตุเกิดเพราะอะไร ซึ่งสถานการณ์ความมั่นคงเช่นนี้ในต่างประเทศจะไม่พูดจนกว่าจะมีความชัดเจน แต่กรณีของไทยต้องเป็นบทเรียนโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงควรพูดในเรื่องความมั่นคงหรือไม่ ดังนั้น เวลาบอกว่าประชาชนอย่าตื่นตระหนก หากเจ้าหน้าที่รัฐพูดโดยไม่มีสติหรือพูดก็จะเป็นปัจจัยสร้างความกังวลได้
ส่วนกรณีปัจจัยเหตุลอบวางระเบิดในกรุงเทพมหานครนั้น ศ.สุรชาติ ระบุว่า สิ่งที่เห็นนั้นถ้ามองสองมุม หากอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ระเบิดการเมืองจะไม่มี ทั้งนี้ เมืองในประเทศที่มีการพัฒนา ระเบิดที่เกิดขึ้นในเมืองมีเงื่อนไขเดียว คือ การระเบิดจากภัยก่อการร้าย ดังนั้น ในประเทศที่กำลังพัฒนา ตนคิดว่าระเบิดมีสองแบบ คือระเบิดก่อการร้ายและระเบิดการเมือง แต่ระเบิดการเมืองถ้าย้อนกลับไปไกลๆ โดยระเบิดการเมืองจะวางบ่อยมากที่ถังขยะ แปลว่าระเบิดพวกนี้ไม่ได้หวังการทำลาย แต่หวังเสียงดังและปรากฎเป็นข่าวในสื่อ ส่วนระเบิดก่อการร้ายหวังผลการทำลายและมีความชัดเจน ดังนั้น บริบทที่สังคมไทยเจอเรื่องก่อการร้ายได้มาก
"สิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่เคยมีชุดความคิดความมั่นคงเมือง โดยเมืองในประเทศไทยไม่ได้เตรียมการรับมือกับเหตุการณ์พวกนี้ ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ ระเบิดในภาคใต้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องคิดว่ารัฐบาลไทยจะคิดเรื่องมิติด้านความมั่นคงของเมืองอย่างไร" ศ.สุรชาติ ระบุ
ศ.สุรชาติ ระบุว่า ถ้าฝั่งรัฐบอกว่าเป็นระเบิดฝั่งตรงข้ามรัฐ หรือดิสเครดิตอะไรก็แล้วแต่ แต่ฝั่งตรงข้ามรัฐก็อาจบอกว่าฝ่ายรัฐเป็นผู้ทำเอง ส่วนหนึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันมีอัตราความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองเกิดขึ้น ดังนั้นความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองเหล่านี้ทำให้เกิดเหตุหรือไม่ สิ่งที่ต้องคิดเมื่อเกิดเหตุระเบิดแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้คนตื่นกลัว และทำอย่างไรให้รัฐบาลสามารถมีมาตรการชัดเจนอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
ชี้ระเบิดภาคใต้ไม่ใช้ระเบิดปลอมป่วน
ส่วนกรณีภาคใต้ ถ้าย้อนระเบิดมาถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2559 เราเห็นเหตุระเบิด แต่เหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ เป็นการวางระเบิดแล้วมีระเบิดปลอม หากย้อนดูความมั่นคงก่อเหตุระเบิดในภาคใต้ไม่ได้มีลักษณะของการใช้ระเบิดปลอม จึงเป็นประเด็นที่ต้องหากันต่อ ส่วนเหตุการณ์ที่มีผู้เดินมาวางระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วกลายเป็นระเบิดปลอมตกลงคำตอบจริงๆคืออะไร อย่างกรณีนับถอยหลังปี 2549 ถึง 2550 กรุงเทพฯ เคยเจอเหตุระเบิดหลายจุด ซึ่งเป็นบทเรียนที่ต้องคิดต่อในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง