ไม่พบผลการค้นหา
ฟังความคิดเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ จากมุมมองของ 4 นักวิจัยจาก ‘มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก’ เกาหลีใต้ ที่ทุ่มเทอุทิศตัวด้วยการลงไปอยู่ใน ‘ที่เกิดเหตุ’ และหวังจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการเคลื่อนไหวทางสัมคมของเอ็นจีโอรุ่นใหม่ทั่วโลก

4 นักวิจัยระดับปริญญาโทรุ่นแรกของสาขา Global NGO ภายใต้มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (The May 18 Memorial Foundation) มหาวิทยาลัยชอนนัม เนชั่นเนล (Chonnam National University) เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เดินทางมาศึกษากระบวนการทำงานของนักกิจกรรมไทยที่สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ

ย้อนความกลับไป 2 เดือนก่อน ‘มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก’ เพิ่งยกย่องให้ ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ เป็นนักสิทธิมนุษยชนรางวัลกวางจู ประจำปี 2017 โดยชื่นชมความกล้าหาญในการปลุกเร้าให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสภาพการณ์ทางการเมือง และการเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการทหาร เพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย

ปัจจุบัน ‘มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก’ เปิดสอนสาขา Global NGO มาแล้ว 2 ปี มีนักศึกษาอยู่ทั้งหมด 7 คน ซึ่งล้วนมาจากกลุ่มประเทศโลกที่สาม (Third World Countries) ที่ประชาธิปไตยไม่มีอยู่จริง และเคยผ่านประสบการณ์การทำงานในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมเกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ โดยตลอดระยะเวลา 1 เดือน พวกเขา/เธอทั้ง 4 คน จะออกตระเวนศึกษากระบวนการทำงานขององค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโรงน้ำชา, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ไอลอว์ ฯลฯ


Global NGO05-01.jpg

สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในบังคลาเทศ

วิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ภายในประเทศบังคลาเทศ ยังถูกโจมตีต่อเนื่อง ทำให้นักกิจกรรมหลายคนที่ต่อต้านรัฐบาลโดนจับกุมอยู่เสมอ และชายชื่อ ‘ชาเฮด คาเยส (Shahed Kayes)’ อายุ 40 ปี ก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ลักพาตัว และขู่เอาชีวิตมาแล้ว

ก่อนจะเข้าเป็นนักวิจัยเรื่องเอ็นจีโอของมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ชาเฮดจบการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี เลี้ยงชีพด้วยการทำงานเป็นทั้งอาจารย์ กวี และผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน เริ่มต้นเคลื่อนไหวให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพในแถบแม่น้ำยิปซี ชุมชนประมง และชนบทของประเทศบังคลาเทศ


Global NGO-02-01.jpg

“ในบังคลาเทศคุณไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ หากใครสักคนกล้าออกมาพูดความจริงที่ตรงข้ามกับรัฐ เขาจะโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หรือฆ่าทิ้งทันที ทำให้ทุกคนไม่มีเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีบางส่วนดีกว่าบังคลาเทศ อย่างน้อยก็ทางด้านเศรษฐกิจ และอิสระในการแสดงออกตามพื้นที่สาธารณะ เพราะในบังคลาเทศอยู่กับปัญหาความเชื่อทางศาสนา การเลือกตั้งก็ทำกันแบบปลอม ๆ และรัฐบาลบัลคลาเทศยังคงขู่รีดเงินจากประชาชน”

แม้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ หลังรัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจในการบริหารประเทศ แต่ขณะเดียวกันหากมองไปรอบ ๆ จะพบกับอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาพปัญหาลักษณะเดียวกัน หรือต้องตกอยู่ในอันตรายขั้นย่ำแย่กว่า

ชาเฮดเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นสิ่งที่คนบังคลาเทศพยายามทำกันอยู่ แต่เป็นเรื่องยาก คือถ้าคุณทำงานเกี่ยวกับการศึกษาจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าคุณทำงานเกี่ยวกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมก็ยังโอเค แต่เมื่อไหร่ที่คุณทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย จะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งนับเป็นสถานการณ์สุดท้าทายของนักกิจกรรม เพราะรัฐบาลสร้างบรรยากาศความกดดัน และหวาดกลัว

 “เราอาศัยอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม เราต้องการการเปลี่ยนแปลง และมันต้องเป็นไปได้ ดังนั้น เพื่อสร้างโลกที่มีเป็นธรรมยิ่งขึ้น พวกเราทุกคนจำเป็นต้องจัดการกับการปฏิรูปสถาบัน กฎหมาย และการปกครองอย่างจริงจัง เพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย”

การเคลื่อนไหวทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในบูร์กินา ฟาโซ

‘สเตเฟีย มาลินา คาเบร (Stephie Malina Kabre)’ หญิงสาวอายุ 24 ปี จากประเทศบูร์กินา ฟาโซ แอฟริกาตะวันตก มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ‘มูฟโลก ให้มงลง (Social Movemaze)’ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเห็นการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิทั่วโลก ทำให้เธอตื่นเต้นกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นเป็นในประเทศไทยมาก

สเตเฟียเปิดเผยกับวอยซ์ ทีวี หลังจากได้ร่วมสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องดีมาก ๆ เพราะหลายคนสามารถเปิดเผยตนเอง และค้นพบความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็นได้ ขณะที่ประเทศของเธอไม่สามารถแสดงออกเรื่องเพศในพื้นที่สาธารณะได้ ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ


Global NGO-03-01.jpg

จากนั้นวอยซ์ ทีวี ถามสเตเฟียต่อว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญสุดในประเทศบูร์กินา ฟาโซ คืออะไร คำตอบของเธอคือ

“การเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญมากสุด แม้พวกเราจะอิสระมากขึ้นจากอดีต แต่การตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ทำให้มีการควบคุมมากมาย ดังนั้น ทุกคนเลยพยายามลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เพื่อต่อกรกับการปกครอง และไม่ใช่แค่บูร์กินา ฟาโซ เท่านั้น เกือบทุกประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ทำให้หลายประเทศจับมือกันสร้างความเคลื่อนไหว เพื่อก้าวสู่สังคมใหม่ และยุติความรุนแรงในแอฟริกา” สเตเฟียกล่าว

เนื่องจากประชากรประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ของประเทศบูร์กินา ฟาโซ เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-25 ปี ทำให้ปัจจุบันเด็กนักเรียนระดับไฮสกูลส่วนใหญ่หันมาใส่ใจประเด็นสังคม และออกมาเคลื่อนไหวทางสัมคมมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะเป็นการรวมตัวกันออกมาประท้วงตามท้องถนน เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในปี 2014 การปฏิวัติบนท้องถนนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทำให้ประธานาธิบดีที่ปกครองประเทศมาตลอด 27 ปี หลุดพ้นจากตำแหน่ง

“ปัญหาตามมาคือ เมื่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอายุน้อยมาก พวกเขาอาจไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะต่อกรกับรัฐบาล หรือยื่นขอเสนอในการกำหนดนโยบายเชิงโครงสร้าง ทำให้การเคลื่อนไหวหยุดอยู่แค่การออกมาประท้วงตามท้องถนน และเมื่อพูดเรื่องประชาธิปไตยจะเกิดช่องว่างขนาดใหญ่มากระหว่างเจเนอเรชั่น เพราะคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่คิดแตกต่างกันคนละขั้ว โดยคนรุ่นเก่าจะติดอยู่กับการปกครองของฝรั่งเศส พวกเขาสามารถทำทุกสิ่งให้กับฝรั่งเศสได้ แต่คนรุ่นใหม่จะมองว่า ทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน” สเตเฟียกล่าว

ในเนปาล เสรีภาพเป็นเพียงมายา

ด้าน ‘ดิเนช เค.ซี (Dinesh K.C)’ อายุ 32 ปี เดินทางมาจากเนปาล ประเทศที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และขาดเสถียรภาพมายาวนานกว่าทศวรรษ โดยเขาทำงานในฐานะนักสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2005 แม้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย แต่เขายังวางแผนจะสู้ต่อไป

“ในปี 2006 ผมกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย การเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย เพื่อทวงคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดหรอกว่า อะไรดี อะไรเลว ช่วงเวลานั้นเยาวชนหลายคนพวกเขาถูกลดบทบาท เพราะสภาพแวดล้อมทางการเมือง และประเด็นศาสนาภายในเนปาลเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนต้องทนอยู่กับการต่อสู้อันยาวนาน ซึ่งปัญหามันเหมือนมีกำแพงกั้นกลางอยู่คล้าย ๆ กับของประเทศไทยที่มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง ส่งผลให้เกิดการประท้วง และเผชิญหน้ารุนแรงแบบไม่จำเป็น”


Global NGO-03-04-01.jpg

“ก่อนอื่นทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ประชาธิปไตย’ คืออะไร เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้ว่า ‘ประชาธิปไตย’ คืออะไร พอพูดคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ พวกเขาก็แค่แห่ทำไปตาม ๆ กัน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศเนปาลตอนนี้ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นเยาวชน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ยึดติดกับสถาบันกษัตริย์ และทุกคนต้องอยู่ภายใต้ความกดดันของข้อกฎหมาย เพราะกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด สามารถทำทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ทำให้ประชาชนไม่กล้าขัดขวาง หรือต่อกร ดังนั้นเมื่อพูดคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ มันเป็นระบบหนึ่งที่มีฟังก์ชั่นในการขับเคลื่อนประเทศ พวกเราทุกคนต้องเข้าใจใน 3 เสาหลักที่ประกอบด้วยนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน”

ดิเนชกล่าวต่อว่า ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นในเนปาล ส่งผลให้ประเทศต้องเผชิญกับความยากลำบาก และสูญเสียโครงสร้างพื้นฐาน จึงต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ในหลักสิทธิมนุษยชน และปลูกฝังประชาธิปไตยแก่ประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในเนปาลมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลากหลายทางศาสนา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก และพวกเขาต้องทนเจ็บปวดกับความขัดแย้งทางสังคม ชนชั้น ความด้อยโอกาส และความยากจนมายาวนาน ดังนั้น หากเชื่อมโยงคนต่างเจเนอเรชั่น หรือคนต่างความคิดเข้าด้วยกันได้ น่าจะนำไปสู่สันติภาพทางการเมือง และเสรีภาพที่แท้จริง

ประชาธิปไตยเปลี่ยนไปตามโลกาวิวัฒน์

นักศึกษาหนุ่มคนไทย อายุ 30 ปี ไม่ขอระบุชื่อ เล่าประสบการณ์การศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ให้ฟังว่า นักกิจกรรมทางสังคมในเกาหลีใต้ไม่ค่อยมีประเด็นใหม่ ๆ ค่อนข้างจะตัน อย่างประเด็นเรื่องเพศในเกาหลีใต้ยังคงถูกกดทับด้วยวัฒนธรรม ส่งผลให้ไม่ค่อยมีใครเคยเห็นกระเทย หรือเกย์ และไม่ค่อยเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มนักกิจกรรมในประเด็นความหลากหลายทางเพศด้วย แต่ประเด็นประชาธิปไตยดูเหมือนจะไปไกลสุด

“ในประเทศเกาหลีใต้ ผมเห็นการเคลื่อนไหวทางสัมคมของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นครั้งเดียวตอนต่อต้าน ปาร์ค กึน-เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ซึ่งความน่ากลัวอยู่ตรงที่เด็ก ๆ จะเข้าใจเป็นเทรนด์มากกว่า คือกระบวนการโค่นล้มประธานาธิบดีเดินมาถูกทางหมดเลย แต่ลึก ๆ พวกเขายังสับสนในหลาย ๆ ประเด็น หรือล่าสุดตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ผมถามพวกเขาว่า ทำไมต้องเลือก มุน แจ-อิน คำตอบคือ เพื่อนบอกให้เลือก พ่อบอกให้เลือก โดยไม่เข้าใจนโยบาย หรือความแตกต่างจากประธานาธิบดีคนเก่า”


Global NGO-02-04-01.jpg

“หลังจากแลกเปลี่ยนกันเยอะ ๆ พวกเราตกผลึกกันว่า นักกิจกรรมทุกคนต้องพยายามคิดไกลกว่าตัวเอง เพราะรูปแบบการร่างจดหมายที่ทำกันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่ได้ช่วยเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง และบ่อยครั้งการทำงานของนักกิจกรรมถูกผลักออกจากระบบการเมือง ซึ่งจริง ๆ แล้วเราควรเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้าง โดยในอนาคตอาจจะต้องมีนักกิจกรรมที่เป็นสายธุรกิจ สายการเมือง และอยู่ในโครงสร้างทางสังคม ไม่ใช่อยู่แค่กลุ่มนักกิจกรรมเท่านั้น”

หนุ่มไทยเสริมต่อว่า ความเข้าใจใน ‘ประชาธิปไตย’ เปลี่ยนไปตามโลกาภิวัฒน์ และเต็มไปด้วยความลื่นไหล ไม่สามารถกำหนดนิยามตายตัวได้ แต่ต้องเข้าใจความหมายในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งความหมายของคนเจเนอเรชั่นใหม่อาจแตกต่างจากยุคเก่ามาก เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“ผมกับแม่ถกเกียงกันทุกวันในประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เพราะความเข้าใจของท่านจะติดอยู่กับกรอบการทำงานแบบเก่า และเขาอาจยังไม่ค่อยเข้าใจคนรุ่นใหม่ อย่างเรื่องการร่างแถลงการณ์ล่ารายชื่อ ผมจะบอกแม่เสมอว่า ‘ไม่เวิร์ค’ และการทำรายงานประจำปีเป็นเล่ม ๆ ไม่มีคนอ่านหรอก ดังนั้น รูปแบบการนำเสนอต้องเปลี่ยนไป คือผมอยากให้ความรู้เรื่องที่เข้าใจยากบนยูทูบ เพราะคนไทยชอบตลก ไม่ชอบเครียด คือนักกิจกรรมรุ่นเก่าชอบเปลี่ยนเร็วที่สุดแบบตะวันตก แต่ผมกลับคิดว่า สำหรับคนไทยต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะวัฒนธรรมแตกต่างกัน ขณะที่ฝรั่งเชื่อเรื่องความเท่าเทียม แต่คนไทยยังบูชาบุคคลอยู่เลย ดังนั้น การดัดแปลงประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใส่เลยเป็นไปไม่ได้”

---------------------------------------------

*หมายเหตุ : ปัจจุบันเมืองกวางจูกลายเป็นสัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ เนื่องจากในปี 1980 เผด็จการทหารคลืบคลานไปทั่วประเทศ ทว่าประชาชนเมืองกวางจูกลับพร้อมใจกันลุกฮือขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยเหตุการณ์การประท้วงเริ่มต้นขั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 และรัฐบาลใช้กองกำลังทหารติดอาวุธสลายการชุมนุม ส่งผลให้ตลอดช่วงระยะเวลา 10 วัน พบผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บนับพันราย และประชาชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนเกาหลีใต้เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย และมีกำลังใจในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ จนกระทั่งในปี 1987 คนเกาหลีนับล้านออกมารวมตัวบนท้องถนนเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง จนสามารถล้มเผด็จการทหารลงได้