ไม่พบผลการค้นหา
กทม.เตือนคนกรุงเตรียมรับมมืือฝนตกซ้ำซากถึง 12 ก.ย.เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ขอประชาชนวางแผนการเดินทาง ยันสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยายังรับมือได้ ขณะที่ 'ชัชชาติ' สั่งจับตา 4 วันอันตรายหลังน้ำเต็มทุกคลองสายหลัก แจงผู้บริหารกทม. ลงไปลุยน้ำท่วมต้องการดูปัญหา ด้าน 'อุตุฯ' แจ้งเตือนคนกรุงเทพเจอฝนถึง 14 ก.ย. ตกหนักบางแห่ง

วันที่ 8 ก.ย. 2565 วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย ณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงถึงความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ฝนตกหนักทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 12 ก.ย. 2565 โดยระบุข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศมีร่องมรสุมพาดผ่านกรุงเทพมหานคร ประกอบกับความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมทำให้ฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงนี้ตกแช่เป็นเวลานาน ทำให้มีประมาณฝนสะสมสูงเกือบถึง 200 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่เขตบางเขน 178 มิลลิเมตร เช่นเดียวกับเขตอื่นๆ ในโซนกรุงเทพเหนือและกรุงเทพตะวันออกมีปริมาณฝนเกินกว่า 100 มิลลิเมตร ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 วันแล้ว ลักษณะเช่นนี้จะคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกถึงประมาณวันที่ 12 ก.ย. 2565 จึงขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และการวางแผนการเดินทาง โดยทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ 

ส่วนสถานการณ์น้ำตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ยืนยันว่า ยังสามารถรับมือได้ เพราะมีแนวคันกั้นน้ำสูงกว่า 3 เมตร ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำสูง 1.85 เมตร แต่จุดฟันหลอยังต้องเสริมความแข็งแรงให้แนวกั้น ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าเครื่องโมบายยูนิตที่มีกำลังในการสูบน้ำสูง กทม.มีเพียง 4 เครื่องเท่านั้น แต่ในอนาคตมีแผนจะจัดหาซื้อเพิ่มเติม ซึ่งในระหว่างนี้ เครื่องสูบน้ำกว่าพันเครื่องที่กระจายอยู่ในทุกเขตของกทม. มีใช้งานอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ขอขอบคุณความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมชลประทาน ในการส่งเครื่องสูบน้ำมาสนับสนุนภารกิจของกทม. ด้วย

ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำชับให้สำนักที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมพร้อมกำลังคน หน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ เพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างทันท่วงที นอกเหนือจากดูแลระบบระบายน้ำหลักให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพร่องน้ำในคลองและแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ สำหรับในพื้นที่ที่มีฝนหนักได้ประสานกับกองทัพและเทศกิจในการจัดรถรับส่งประชาชนให้สามารถเดินทางได้สะดวกกรณีมีน้ำท่วมขัง บริการรถยก รถลาก และทีมงานซ่อมกรณีรถเสียในจุดน้ำท่วมขัง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยการจราจรและช่วยเหลือประชาชนด้วย 

ส่วนเรื่องการจราจรและการเดินทางหากเกิดน้ำท่วมสูง ประชาชนสัญจรกลับบ้านไม่ได้ กทม.ได้ประสานและจัดเตรียมรถทหาร รถเทศกิจ บริการตามสถานีรถไฟฟ้าหลัก โดยสามารถติดตามรายละเอียดจุดจอดรถบริการรับ-ส่งประชาชนได้ตามทุกช่องทางประชาสัมพันธ์ของ กทม.

ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครยังบริการแจ้งเตือนล่วงหน้าถึงสถานการณ์ฝนตก พร้อมด้วยแจ้งจุดที่น้ำท่วมขังในถนนสายหลักสายรองเมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นระยะ บนเพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” รวมทั้งประสานแจ้งผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ สามารถวางแผนการเดินทางและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยมีผลกระทบน้อยที่สุด 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุน้ำท่วมขังได้ที่ Traffy Fondue สายด่วน 1555  ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 (สำหรับถนนสายหลัก)  และติดตามสถานการณ์ได้ที่ทวิเตอร์ @bkk.best @prbangkok

'อุตุฯ' แจ้งเตือนคนกรุงเทพเจอฝนถึง 14 ก.ย. ตกหนักบางแห่ง

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 14 ก.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

วิศณุ กทม F7-49A0-9E4A-6E9989133722.jpegวิศณุ รองผู้ว่า กทม 37-A4E39E6BCB45.jpeg

'ชัชชาติ' จับตา 4 วันอันตราย สั่งทุกเขตช่วยน้ำท่วม แจงลุยน้ำท่วมไปช่วยดูปัญหา

ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2565 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนซึ่งเป็นกำลังหลักที่สำคัญ จริง ๆ กทม. มีคนเก่ง คนดีเยอะ และสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รู้สึกว่า กทม. ดีขึ้น สิ่งแรกที่ยืนยันคือเรื่องความโปร่งใส เรื่องทุจริต คอร์รัปชันไม่มี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องขอย้ำขอให้ทุกคนช่วยกัน พวกเราโชคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของ กทม. เพราะ กทม. ดูแลตลอดชีวิต ดังนั้นควรปฏิบัติตนให้ดีและรับใช้ประชาชนเต็มที่ อย่าให้ใครเอาชื่อไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ 

เรื่องที่ 2 คือเรื่องผลงาน การแต่งตั้ง โยกย้ายทั้งหมด ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องใช้เงิน ใช้ความสามารถอย่างเดียว ซึ่งการดำเนินงานตามนโยบาย รวมถึงโครงการต่าง ๆ จะเป็นตัวชี้วัดว่าใครทำงานดี ใครทำงานได้ ฉะนั้น เรื่องโยกย้ายเรื่องตำแหน่งทั้งหมดมาจากผลงาน ไม่มีเรื่องอื่น ๆ ทั้งสิ้น ขอให้เอาความประพฤติเป็นที่ตั้งและต้องดูแลลูกน้องด้วย ถ้าเรารู้ว่านโยบายของผู้บริหารต้องการ 2 อย่าง คือ ความโปร่งใสกับผลงาน ก็ต้องเลือกลูกน้องที่โปร่งใสและมีผลงาน เราจึงต้องเลือกคนที่มีความสามารถ โปร่งใส ไม่มีประวัติด่างพร้อย ฉะนั้น ต้องเลือกคนที่ทำงานเป็นด้วย สามารถดูแลและเข้าถึงประชาชนได้

ส่วนเรื่องที่ 3 คือเรื่อง 4 วันอันตราย (9-12 ก.ย. 2565) วันเดียวกันนี้ น้ำเต็มทุกคลองหลักแล้ว การทำงานน้ำท่วมเป็นงานบูรณาการไม่ใช่แค่เรื่องระบายน้ำ เป็นเรื่องของการดูแลคน วางแผนจัดการจราจร การประชาสัมพันธ์ ให้รองปลัดดูแลกำกับหน้างาน ช่วยผอ.เขต ด้วย ขอบคุณ ผอ.เขต ที่ลงพื้นที่ไปช่วยประชาชน ไม่ใช่แค่เฉพาะสำนักงานเขต ทุกสำนักต้องร่วมมือกันทุกคน

“ถามว่าผมลงพื้นที่ไปทำไม ไม่ได้ลงไปบัญชาการเหตุการณ์นะ แต่ลงไปดูปัญหา สุดท้ายงบประมาณทั้งหลายจะต้องสอดคล้องกับปัญหาที่เจอ ถ้านั่งอยู่ในห้องแอร์จะไม่รู้หรอกว่าปัญหาคืออะไร ไม่มีทางเห็นหรอกว่าชาวบ้านเขาด่าเรื่องอะไร ไม่ได้ลงไปจับผิด ผอ.เขต แต่ลงไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ จะได้ทราบว่าปัญหาอยู่ที่ไหนและนำงบประมาณจัดสรรลงในพื้นที่ให้ถูกต้อง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

ในที่ประชุม สำนักสิ่งแวดล้อมได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำคู่มือการปลูกต้นไม้ล้านต้นฉบับเอกชนและประชาชน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนดำเนินการโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นต่อไปว่า ให้สำนักงานเขตเลือกเส้นทางของถนนในพื้นที่ ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยให้สำนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาว่า ถนนเส้นนั้น ๆ สามารถจัดให้มีความสวยงาม เลือกต้นไม้ชนิดไหนมาปลูกได้บ้าง อาจจะเป็นดอกไม้ที่บานทุกฤดู หรือต้นไม้ที่ให้ร่มเงา และเชิญภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบในแต่ละเขต สุดท้ายแล้วก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะบางทีเราปลูกต้นไม้แล้วคนไม่เห็น เนื่องจากมีการปลูกกระจายในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกในสวนสาธารณะ รวมถึงการทำทางเท้าให้ดี และการจัดระเบียบสายสื่อสารด้วย ให้เป็นถนนตัวเอย่างในแต่ละเขต  

สำหรับวิธีเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. เข้าร่วมแบบหน่วยงาน (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ) ลงทะเบียนในแบบฟอร์มผ่านเว็บไซต์ bkk1milliontrees.com ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้ โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ บริจาคกล้าไม้ และจองซื้อกล้าไม้ 2. รายบุคคล ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการด้วยการเพิ่มเพื่อนในไลน์ @tomorrowtree ลงมือปลูกต้นไม้และบันทึกผลในปลูกอนาคต เพื่อร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง