ไม่พบผลการค้นหา
กป.อพช.อีสาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีชำแหละนโยบาย  BCG ชี้ฟอกเขียว“รบ.ประยุทธ์และอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ” พร้อมยื่นข้อเสนอพรรคการเมือง ชี้ ประยุทธ์ ต้นเหตุให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงฝุ่น P.M.2.5  ระบุทำคนจน “จนแล้ว จนอีก จนต่อไป”

ที่อาคารผู้โดยสารเก่า (หลังกลาง) สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นวานนี้ ( 4 พ.ค. 66 ) คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.ภาคอีสาน) และภาคีเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากหลากหลายองค์กร ได้จัดเวทีสาธารณะวิพากษ์แผนพัฒนาอีสานผ่านนโยบาย BCG และผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 2560 โดยในช่วงแรกได้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ โดยมีนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าร่วมในเวทีเสวนาเป็นจำนวนมาก

BCG ไม่ยึดโยงประชาชน แปลงร่างทวงคืนผืนป่าแย่งที่ดินพิพาท 

กิติมา ขุนทอง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า นโยบายนี้คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว เกิดในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการทำนโยบายขึ้นจากทีมเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 61-62 ที่โชว์เป็นวาระหลักในการประชุมเอเปคและอ้างว่า จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำความยากจน โดยจะเน้นเรื่องการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้มันสำปะหลังในการผลิต เน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้ชานอ้อยมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เน้นเรื่องการปลูกป่าเพื่อหาคาร์บอนเครดิต ซึ่งคณะกรรมการของ BCG มี 23 คน ประกอบไปด้วยข้าราชการและฝ่ายทุน เช่น ฝ่ายมิตรผลและเบทาโกร รวมทั้งมีคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้ยังมี SCG 

“เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีอันไหนที่ยึดโยงกับประชาชนและBCG จะนำมาถูกทดแทนนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่าที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการต่อได้แล้ว ก็เปลี่ยนรูปแบบนโยบายที่มาผลักดันต่อคือ BCG เพราะ BCG มุ่งเป้าเรื่องการปลูกป่าเพื่อขายพันธบัตรป่าไม้ คาร์บอนเป็นศูนย์ ลดโลกร้อนมันมารวมอยู่ที่ BCG  แล้วมันจะเอาพื้นที่ไหนมาปลูกป่า ก็คือ เอาพื้นที่ป่าที่เกิดกรณีพิพาทกับประชาชน ต้องย้ำว่า BCG มันแปลงร่างมาสนับสนุนนโยบายที่เราคัดค้านมาตลอด เพราะคนผลักดัน BCG คือกลุ่มทุนชุดเดิม แค่เปลี่ยนฉากหน้าไปเรื่อยๆ” 

“จนแล้ว จนอีก จนต่อไป” ดูดทรัพยากรท้องถิ่นป้อนนายทุนส่วนกลาง

กิติมา กล่าวต่อว่า  ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรคนตัวเล็กตัวน้อยจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากนโยบาย BCG เพราะมันคือกับดักและหลุมพรางทำให้คนจน จนแล้ว จนอีก และจะจนต่อไป แต่ขณะที่นายทุนออกแบบผังตัวนี้เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิ์ มีเสียง และได้สิทธิประโยชน์จากที่คนส่วนใหญ่สูญเสียทรัพยากร ตนเรียกว่าเป็นนโยบายอาณานิคมภายใน คือการที่รัฐบาลไทยส่วนกลางมาเอาทรัพยากรจากคนที่อยู่รอบนอกทั้งเหมืองแร่ เหมืองทอง ป่าไม้ เอานาข้าวไปทำไร่อ้อย มาแย่งน้ำ จากชาวบ้านที่อยู่ชายขอบ ชายแดนไปป้อนนายทุนที่อยู่ส่วนกลาง สิ่งสำคัญคือเรื่องนี้มันอยู่ภายใต้แนวคิดการแปลงทุกอย่างให้เป็นสินค้าเพื่อขาย แต่จริงๆ คือการทำลายให้เรายากจนมากขึ้น BCG จึงเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเราหยุดไม่ได้แค่การเลือกตั้ง เราต้องไปถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญคุมยุทธศาสตร์ชาติ และแผนต่างๆ รวมทั้งแผน BCG นี้ด้วย 

นโยบายฟอกเขียวให้อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล ทวงสิทธิทำ ‘อีไอเอ-อีเอชไอเอ” ที่ถูกปล้น

ด้าน ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า BCG คือการฟอกเขียว คือปีศาจใส่เสื้อคลุมสีเขียวจะเป็น เครื่องซักผ้าให้พวกอุตสาหกรรมต่างๆ มาฟอกตัว เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาลและนำไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลในภาคอีสาน ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาล 20 แห่ง มีพื้นที่ปลูกอ้อย 10.5 ล้านไร่

“ถ้าทำตาม BCG จะต้องเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยเป็น 16 ล้านไร่ จะมีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นอีก 29  แห่งแต่ละแห่ง 2-4 แสนไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งเกิดฝุ่น P.M.2.5 นอกจากนี้ประชาชนยังจะสูญเสียที่ดินทำกินในกลไกการตลาด ซึ่งโรงงานน้ำตาล 29  แห่ง จะพ่วงการผลิตโรงงานชีวมวลจากชานอ้อยมาด้วยที่จะทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน”นายไชยณรงค์กล่าว

นายไชยณรงค์ กล่าวต่อว่า  สำหรับประชาชนที่มีพื้นที่ที่ดินทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ จะได้รับผลกระทบจากคาร์บอนเครดิต เพราะรัฐจะแย่งที่ดินไปให้เอกชนเช่าเพื่อนำไปปลูกป่า จะมีประชาชนถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ทับซ้อนอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ก็จะถูกนำไปให้เอกชนเช่าปลูกป่าเช่นกัน ดังนั้น BCG จึงเป็นเรื่อง เบียดขับคนจนและแย่งชิงที่ดินของคนจนไปให้กับนายทุน การต่อสู้ของชาวบ้านจึงจะเปลี่ยนไปจากยุค คสช.ที่ต้องสู้กับทหาร ต้องเตรียมรับมือปะทะกับทุน 

ไชยณรงค์    กล่าวต่อว่า  นอกจากนั้นผลพวงของแผน BCG  ของรัฐบาลประยุทธ์ คือการที่โครงการขนาดใหญ่ ไม่ต้องผ่านการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีเอไอ) ตามขั้นตอนของสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2562 ซึ่งเรื่องนี้เป็นการปล้นสิทธิการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่จากชุมชนไปอยู่ในมือของทุน  หากประชาชนหรือนักพัฒนาเอกชนเคลื่อนไหวก็จะถูกแจ้งความดำเนินคดี  ตนคิดว่านี่คือการปล้นสิทธิชุมชนไปพร้อมๆ กับแผน BCG ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่พอต้องไปแก้กฎหมายลำดับรองด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการทำอีไอเอและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) จากนี้ คู่ต่อสู้ของเราต่อไปก็คือการที่รัฐจับมือกับทุน ที่จะหนักหน่วงยิ่งขึ้น ทั้งทุนภายในและทุนต่างชาติ เป็นสนามรบที่พี่น้องอีสานต้องเผชิญและตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน จึงขอเรียกร้องต่อชาวอีสานไม่ว่าจะชนบทหรือเมืองต้องลุกขึ้นมาปกป้องชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากรฯ แต่รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศด้วย สิ่งที่เขาอ้างคือป้องกันโลกร้อนแต่ทั้งหมดนั้นคือการเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนให้เร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่ทุนสะสมทุนอย่างอิ่มหนำสำราญ แต่ชาวอีสานไม่ว่าชนบทหรือเมืองต้องรับชะตากรรมเดียวกัน

BCG ละเมิดสิทธิตาม รธน. คนอีสาน แนะเลือกตั้งต้องประเมินนโยบายพรรคการเมือง

ขณะที่อารยา สุขสม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิของประชาชนไว้ ถ้าจะมีการออกนโยบายอะไรออกมากระทบกับประชาชน รัฐบาลต้องเคารพสิทธิประชาชนในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังบัญญัติไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ เมื่อมีนโยบายการปลูกอ้อยในอีสานกลับไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ เนื่องจากภาคอีสานเหมาะกับการปลูกข้าว มีข้าวมะลิจากทุ่งมะลิที่อร่อยที่สุด ซึ่งควรได้รับการสนับสนุน แต่รัฐบาลกลับนำนโยบายนี้เข้ามาโดยไม่ได้ถามคนพื้นที่ 

นโยบายนี้ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ เกิดกระทบด้านฝุ่น สร้างความขัดแย้งให้เกิดในพื้นที่ เกิดการแย่งชิงและทรัพยากร ทั้งนี้นโยบาย BCG จะทำให้เกิดการค้าชายแดนและจะทำให้พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น โคราช อุดรธานี และหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจ เพราะมีคำสั่งที่ประกาศออกมาว่า จังหวัดเหล่านี้ไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง นั่นหมายความว่า กฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้ 

อารยา กล่าวว่า ดังนั้นมองว่า BCG เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ในเรื่องการดำเนินโครงการใดๆ ต้องถามประชาชนในพื้นที่ก่อน หากถามว่า BCG ส่งผลอะไรต่อคนในภาคอีสาน คือ 1.มันทำลายหลักประกันสิทธิที่สำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเต็มๆ เพราะไม่ต้องถามประชาชนก่อนทำโครงการต่างๆ ถามว่าผลประโยชน์ตกที่ประชาชนหรือกลุ่มทุน 2.ความย้อนแย้งของนโยบายที่ระบุว่าจุดแข็งของอีสานคือพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก แล้วทำไมวันนี้รัฐบาลกำหนดให้พื้นที่อีสานรองรับการปลูกอ้อย  

ตนมองว่านโยบาย BCG ไม่สามารถทำให้ความเป็นอยู่ชีวิตของพี่น้องประชาชนในอีสานได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ด้วยเหตุผลว่าคุณเข้าเมืองอีสานแต่ไม่ถามคนอีสานเลย ดังนั้นจะมาหาความชอบธรรมอะไรจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนอีสานในเมื่อเจ้าของพื้นที่ยังไม่ถูกถาม วันนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องแต่เป็นชีวิตของเราถึงรุ่นลูกรุ่นหลานด้วย ดังนั้นในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จึงต้องประเมินนโยบายของรัฐบาลว่าชุดใดจริงใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสนใจเกี่ยวกับเรื่องปากท้องของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ให้สตางค์อย่างเดียว ต้องมองถึงโครงสร้างซึ่งถึงแม้จะไกลตัวท่าน แต่ต้นเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ระบบกฎหมายและโครงสร้างของรัฐ ที่เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป 

ยุโรปจ่อเลิกคาร์บอนเครดิต เหตุลดโลกร้อนไม่ได้จริง

ด้านสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ประเทศในยุโรปกำลังจะยกเลิกนโยบายคาร์บอนเครดิต เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า นโยบายคาร์บอนเครดิตไม่ได้ทำภาวะโลกร้อนลดลง เพราะโรงงานต่างๆ สามารถไปซื้อพื้นที่ปลูกป่าในประเทศอื่นๆ ได้ แต่ไม่ได้ปรับแก้การผลิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตัวเอง  นโยบาย BCG เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เมื่อเกิดขึ้นจึงได้เกิดการแก้ไขกฎหมายหลายส่วน โดยรัฐบาลมีแผนที่จะแก้กฎหมายผังเมืองเพื่อให้หน่วยงานอนุมัติการสร้างต่างๆได้ง่ายขึ้น ซึ่งตนอยากถามว่า เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนหรือทุน นอกจากนี้ยังจะมีการแก้ไขกฎหมายโรงงานทำให้เกิดโรงงานง่ายขึ้น อีกทั้งมีการแบ่งประเภทโรงงานที่จะทำให้ธุรกิจน้ำตาลทำงานได้ง่ายขึ้นและจะมีการแก้ไขกฎหมายพันธุ์พืชพื้นเมืองเพื่อให้นิยามใหม่ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงพันธุ์พืชได้ง่ายขึ้น อนาคตประชาชนจะต้องซื้อพันธุ์พืชจากทุนทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชทำให้เอื้อต่อกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน 

สุทธิชัย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยมีแก้ไขกฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ผ่านมาเอกชนต้องประมูลเพื่อป้องกันการทุจริต แต่คสช. ได้ออกคำสั่งมาว่า ถ้าเป็นโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐสามารถชี้นิ้วได้เลยว่า กลุ่มทุนจัดตั้งโรงงานโดยที่ไม่มีประมูลได้เลย หลังการรัฐประหารกลุ่มทุนต่างๆ เหล่านี้เป็นฝ่ายเข้ามาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในภาวะของการเลือกตั้ง เราจึงตั้งคำถามว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีปมเรื่องอำนาจ ส.ว.ที่มีบทบาทต่อการบังคับให้รัฐบาลทุกชุดต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่ง BCG ก็รวมอยู่ในแผนนี้ หากรัฐบาลชุดใดไม่ดำเนินการตาม ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความและอาจจะส่งให้เรื่อง ป.ป.ช.เอาผิดกับรัฐบาลได้

สุทธิชัย กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ใครที่บอกว่ารัฐธรรมนูญกับปากท้องเป็นคนละเรื่องนั้นอย่าไปเชื่อและตนเชื่อว่าพี่น้องสัมผัสได้ว่าการได้ผู้ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มามันเป็นอย่างไร เราลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ ส่วนเราจะทำอย่างไรนั้น เราไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่เราจะเขียนใหม่ สิ่งที่ทำได้และเป็นโอกาสที่ดีมากคืออีก 10 วัน พี่น้องกำลังจะได้ไปใช้สิทธิ์ในฐานะเจ้าของประเทศ จึงขอให้ตรวจสอบดูว่ามีพรรคการเมืองใดขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ อย่าไปเลือกพรรคนั้น นอกจากนั้นคือดูนโยบายว่าพรรคไหนเขียนถึงการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีไม่กี่พรรค ถ้าเราไม่ปลดล็อกรัฐธรรมนูญเราจะอยู่ใต้ภาวะนี้ต่อไป เราไม่มีทางอื่น ถ้าอยากหลุดจากวังวนนี้เราต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และอนาคตอยู่ในมือของประชาชนทุกคน 

BCG เป็นประดิษฐกรรมของ คสช. ทำ ปชช. ตาย

ส่วนจีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า BCG เป็นประดิษฐกรรมของรัฐ คสช. ซึ่งสีเขียวของ BCG หมายถึงประชาชนตัวเขียว คือ สิ่งที่จะทำให้ประชาชนตาย ไม่ใช่เขียวของความรุ่งเรือง ดังนั้นภารกิจของพวกเรา คือ การทวงคืนประชาธิปไตยที่ถูกปล้นมาแล้ว 9 ปี เรามีรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้จะไม่ดีเท่าปี 40 แต่ไม่ได้มีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไข แต่รัฐธรรมนูญปี 60 มันชัดเจนมาก มีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขจากทุกฝ่าย มีความพยายามเสนอให้แก้ไขถึง 25 ร่าง เป็นของประชาชน 4 ร่าง แต่มีเพียงร่างเดียวที่ผ่าน คือทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ  การเลือกตั้งครั้งนี้เราต้องปักธงเอาประชาธิปไตยคืนมา รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตัดสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ คือ อำนาจของประชาชนและอำนาจท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องกระจายอำนาจ และเขียนว่าให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย นอกจากจะต้องปักธงเรื่องนี้แล้วยังต้องแก้กฎหมายลูกที่ตัดอำนาจประชาชนออกไป

จีรนุช กล่าวว่า เวลาที่เราพูดเรื่อง BCG เราอยู่กับวาทกรรมที่เรียกว่าเป็นผู้ขัดขวางการพัฒนามาตลอด คำถามใหญ่คือการพัฒนาแบบที่เขาพูดกัน คือการพัฒนาแบบไหน คือการพัฒนาแบบที่จนกระจาย รวยกระจุกหรือไม่ ยิ่งทำความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง สิ่งที่พี่น้องจะทำได้ในฐานะนักสู้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วงชิงความเข้าใจและความหมาย กับพี่น้องประชาชน เพื่อนบ้าน หรือคนอื่นๆ ให้เข้าใจว่า BCG คืออะไร เราต้องทำความเข้าใจกับเขาว่าอันนี้มันเขียวปลอม ไม่ใช่เขียวจริง แล้วมันเป็นเขียวที่จะทำให้เราเดือดร้อนลำบาก มันเป็นเขียวที่ไม่เป็นธรรม และเอื้อทุน เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องช่วยกันขยายความเข้าใจเพราะว่าคนที่จะเข้าใจเรื่อง BCG ตอนนี้มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะจากมุมของคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างแท้จริง 

เสนอยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง-ยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ

ภายหลังหลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนาวิชาการ ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันระดมข้อเสนอทางนโยบายและแผนปฏิบัติการต่อเรื่องนโยบาย BCG และแผนการพัฒนาและกฎหมายฉบับต่างๆ จากเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน โดยภายหลังจากการระดมความเห็นแล้วกลุ่มได้ข้อเสนอร่วมกัน เป็นข้อเสนอทางนโยบายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอีสานได้แก่ 1. ข้อเสนอเชิงนโยบายประกอบด้วย เชื่อมแผนการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แทน BCG ที่ไม่สอดคล้องกับ SDGs เพราะ BCG เป็นนโยบายที่เปิดช่องให้มีการดำเนินธุรกิจที่ไร้ความรับผิดชอบและละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย เนื่องจากว่า BCG ตกอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ล้วนเต็มไปด้วยนักวิชาการ หน่วยงานราชการ และพ่อค้ากลุ่มทุนผูกขาดหลายกิจการ ไม่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ  โดยสองเรื่องแรกที่สำคัญสุดในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่  คือ  1.ยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง  2.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

เปลี่ยนปฏิรูปประเทศเป็น 'กระจายอำนาจ' จี้ยกเลิกคำสั่ง คสช. - กม.ล้าหลัง 

ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนหมวด 16 “การปฏิรูปประเทศ” ของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น “การกระจายอำนาจ” โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริการสาธารณะ สวัสดิการด้านต่าง ๆ การเงิน การคลัง ของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง รวมถึงให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยบัญญัติเนื้อหาให้เกิดความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ตลอดจนยกเลิกคำสั่ง คสช./คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด ทั้งนี้โครงการพัฒนาและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคมและสุขภาพให้ดำเนินการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เสียก่อน มีการยุติการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  ตลอดจนยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับบริบท ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างหรือปรับแก้กฎหมาย

กำหนดเขตปลูกข้าวหอมมะลิ-ลดส่งเสริมปลูกอ้อย 

ข้อเสนอเชิงประเด็น ประกอบด้วย การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาพื้นที่ โดยอาศัยความรู้จากชุมชน (การพึ่งพาเฉพาะความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลสำคัญต่อการทำลายภูมิปัญญาพื้นบ้าน) เช่น การเปิดเสรีสุราพื้นบ้าน การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตามแนวทาง “ผลิตน้อยได้มาก” ซึ่งเป็นการส่งเสริมศักยภาพและอำนาจของชุมชนในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งปลายน้ำ กำหนดขอบเขตพื้นที่การปลูกข้าวหอมมะลิ/เกษตรอินทรีย์ ผลักดันการปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งทุ่งกุลาร้องไห้และทุ่งสัมฤทธิ์ให้เป็นพืช GI อย่างเป็นรูปธรรม ลดการส่งเสริมการปลูกอ้อยซึ่งใช้สารเคมีอันกระทบต่อคุณภาพและสถานะภาพของข้าวหอมมะลิ GI ขณะเดียวกันรัฐต้องเข้ามาส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างจริงจัง

นิรโทษกรรมคดีให้ ปชช. ที่ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น

นอกจากนั้นต้องมีการพัฒนาพื้นที่ปลูกพืชเพื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนออกแบบได้เองตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับจังหวัด ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน กระจายอำนาจให้คนในชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพยากรในพื้นที่  ชุมชนต้องมีสิทธิตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน  เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต จำกัดการถือครองที่ดิน  เดินหน้าเรื่องโฉนดชุมชน มีกระบวนการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว ไม่สองมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติคนจน-คนรวย รวมทั้งมีกระบวนการแก้ไขปัญหาให้จบในระดับจังหวัด มีกระบวนการชดเชยเยียวยา ฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้ต้องมีกลไกคุ้มครองผู้ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นที่ถูกคุกคาม  นิรโทษกรรม ยุติการฟ้องร้องและดำเนินคดีกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ผลักดันให้มีกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง (AntiSLAPP)