ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ในยุโรปและอเมริกาเหนือพบเด็กเป็นโรคอักเสบหายากที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา จากเดิมที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าไวรัสโคโรนาไม่ส่งผลกระทบกับเด็กมาก

เด็กจำนวนมากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดโรคอักเสบหายากในยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่งผลให้มีอาการคล้ายกับกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก หรือการติดเชื้อชนิดที่สามารถปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ แม้จะเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ยาก แต่อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า มีเด็กอังกฤษมากถึง 100 คนที่ติดโรคนี้ โดยบางคนจำเป็นต้องได้รับการการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่บางคนก็หายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังพบเด็กเป็นโรคนี้กันทั้งในสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และสหรัฐฯ โดยศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี เตรียมจะประกาศคำเตือนและนิยามอาการของโรคให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขภายในสัปดาห์นี้ 

เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมา แพทย์ในอังกฤษได้รับแจ้งว่าให้สังเกตปฏิกิริยาที่หายากแต่อันตรายในเด็ก หลังจากที่พบเด็ก 8 คนป่วยในกรุงลอนดอน รวมถึงเด็กวัย 14 ปีที่เสียชีวิต โดยเด็กทั้ง 8 คนมีอาการคล้ายกันเมื่อถูกส่งไปที่โรงพยาบาลเด็กอีเวลินาลอนดอน ได้แก่ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ตัวบวมและปวดตามเนื้อตัว และแม้เด็กส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในปอดหรือการหายใจ แต่ 7 คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยเรื่องหัวใจและการไหลเวียนเลือด

แพทย์อธิบายว่า "ปรากฎการณ์ใหม่" คล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ โรคหายากที่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีอาการผื่นขึ้น ต่อมบริเวณคอบวม ริมฝีปากแห้งและแตก แต่โรคใหม่นี้พบในเด็กโตถึงอายุ 16 ปีด้วย โดยบางคนมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง

พญ.ลิซ วิทเทเคอร์ อาจารย์แพทย์ด้านโรคติดต่อและภูมิคุ้มกันวิทยาในเด็กจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า โรคนี้ระบาดขึ้นมามาก หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ ทำให้แพทย์มองว่า นี่อาจเป็นปรากฎการณ์หลังจากแพร่ระบาด จึงมีแนวโน้มว่าโรคนี้กับโควิด-19 อาจมีความเชื่อมโยงกับแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังการติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

นพ.ลอเรนโซ ดันติกา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาปาจอวันนีที่ 23 จากเมืองเบอร์กาโม ซึ่งเป็นเมืองที่มีอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในอิตาลีได้เปิดเผยข้อมูลในการรักษาที่เป็นหลักฐานยืนยันความเชื่อมโยงของโรคอักเสบหายากชนิดใหม่นี้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา นับตั้งแต่ที่โควิด-19 ระบาดในเบอร์กาโม ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคคาวาซิกิก็สูงขึ้นประมาณ 10 คนต่อเดือน เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนที่มีคนมีอาการนี้เพียง 1 คนในเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม พญ.อันนาลิซา เจอร์วาโซนี ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ของรพ.ปาปาจอวันนีที่ 23 กล่าวว่า จากประสบการณ์แล้ว มีเด็กเพียงส่วนน้อยที่ติดโควิด-19 และมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำความเข้าใจผลที่ตามมาจากไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะทางสังคม

ด้านศาสตราจารย์รัสเซล ไวเนอร์ ประธานคณะกรรมการวิชาชีพด้านกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็กของอังกฤษกล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการนี้ตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างดี มีอาการดีขึ้นและกลับบ้านได้ พร้อมย้ำว่า อาการนี้ "พบได้ยากมาก" พ่อแม่จึงไม่ควรห้ามเด็กจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง 

นอกจากนี้ ศ.ไวเนอร์กล่าวว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอักเสบหายากนี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมเด็กบางคนจึงป่วยหนักจากโควิด-19 ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่ไม่ป่วยหรือไม่แสดงอาการเลย โดยมีการประเมินว่า มีเด็กติดโควิด-19 เพียงร้อยละ 1-2 จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด และมีไม่ถึง 500 คนที่ต้องเข้าโรงพยาบาล

ไมเคิล เลวิน อาจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็กสากลที่อิมพีเรียลคอลเลจอธิบายว่า เด็กส่วนใหญ่มีผลตรวจไวรัสโคโรนาเป็นลบ แต่ตรวจแอนติบอดีมีผลเป็นบวก ดังนั้น เขาคิดว่า ชีววิทยาของโรคหายากนี้อาจเกี่ยวกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสผิดปกติ แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาต่อไป

ด้านพญ.เจน นิวเบอร์เกอร์ แพทย์โรคหัวใจและผู้อำนวยการโครงการคาวาซากิในเด็กบอสตัน กล่าวว่า โรคนี้อาจเกี่ยวกับความผิดปกติในการตอบสนองไวรัสโคโรนาหรือแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาสู้กับไวรัสโคโรนาอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการอักเสบรุนแรง

 

https://www.bbc.com/news/health-52648557

https://www.theguardian.com/science/2020/may/13/italian-doctors-find-link-between-covid-19-and-inflammatory-disorder

https://www.bostonglobe.com/2020/05/13/nation/covid-19-was-thought-largely-spare-children-now-rare-inflammatory-syndrome-seen-young-has-doctors-perplexed/