ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นวาระครบ 50 ปีการเยือนดวงจันทร์ครั้งแรกของโลก ทำให้หลายประเทศ ทั้งอิสราเอล อินเดีย จีน ผลักดันภารกิจสำรวจดวงจันทร์ แต่ปีนี้มีเป้าหมายใหม่ คือ 'ดาวอังคาร' ทำให้มีภารกิจที่เรียกว่า Mission to Mars เกิดขึ้นหลายโครงการ

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติงบประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ให้แก่องค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ NASA เพื่อใช้ในโครงการ 'อาร์ทิมิส' ซึ่งจะส่งยานอวกาศสหรัฐฯ ไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งใหม่ โดยใช้งบประมาณสูงถึงประมาณ 21,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.6 แสนล้านบาท) 

ส่วนปีนี้ นาซ่าก็ประกาศโครงการใหม่ ซึ่งก็คือภารกิจมุ่งสู่ดาวอังคาร โดยประกาศว่าจะปล่อยยานสำรวจ Jezero สู่วงโคจรในวันที่ 17 กรกฎาคม โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเก็บตัวอย่างแร่ธาตุ สสาร และวัตถุบนพื้นผิวดาวอังคารต่างๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีภาพถ่ายที่บ่งชี้ว่า บนดาวอังคารอาจเคยมีจุลินทรีย์อยู่

ภารกิจสำรวจอวกาศของยาน Jezero คือการนำตัวอย่างที่เก็บจากพื้นผิวดาวอังคารกลับโลก เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าจะสามารถสะท้อนภาพ 'ภูมินิเวศน์ของจุลินทรีย์' ที่เคยอยู่บนนั้นได้หรือไม่

ส่วนภารกิจสำรวจดาวอังคารโครงการที่ 2 เป็นความร่วมมือกันระหว่าง "องค์การอวกาศยุโรป" และ "รัสเซีย" ซึ่งใช้ชื่อโครงการนี้ว่า ExoMars และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสององค์การจะร่วมมือกันพัฒนายานสำรวจอวกาศชื่อว่า Rosalind Franklin ซึ่งตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์หญิงชื่อดัง 

โครงการยุโรป-รัสเซีย ตั้งเป้าว่าจะส่งยานโรซลินด์แฟรงคลินสู่วงโคจรอวกาศให้ได้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 โดยมีเป้าหมายเหมือนกับองค์การนาซ่าของสหรัฐฯ คือ การสำรวจและเก็บตัวอย่างเพื่อหาร่องรอยว่าบนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่

AP-ยานสำรวจอวกาศ-อวกาศ-ดาวอังคาร-นาซ่า-มาร์ส-NASA-Mars Rover

ประเทศที่ 3 ที่ร่วมขบวนโครงการสำรวจดาวอังคารก็คือ 'จีน' ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ตั้งเป้าว่าจะส่งยานสำรวจอวกาศขนาดเล็กขึ้นไปโคจรเหนือดาวอังคารเพื่อเก็บข้อมูลภาพกว้าง โดยยานดังกล่าวมีชื่อย่อว่า HX-1 ซึ่งทางการจีนระบุว่ายานสำรวจนี้จะทำงานด้วยระบบควบคุมระยะไกล เพื่อนำอุปกรณ์สำรวจอวกาศ 13 ชิ้นไปเก็บข้อมูลและบันทึกภาพกว้างของดาวอังคาร และส่งกลับมายังศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน 

แม้จีนจะยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มภารกิจปล่อยยานอวกาศเมื่อไหร่กันแน่ แต่สื่อด้านนี้ประเมินว่ากำหนดปล่อยยานของจีนน่าจะเริ่มขึ้นกลางปี 2020 แน่นอน

ประเทศที่ 4 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี จะส่งยานสำรวจ Hope หรือ HII-A ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศกลางปีนี้เช่นกัน โดยยานสำรวจของยูเออีจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีน้ำหนักประมาณ 240 กิโลกรัม และจะถูกปล่อยจากฐานปฏิบัติการในประเทศญี่ปุ่น คาดว่ายานจะเข้าสู่วงโคจรเหนือดาวอังคารช่วงต้นปี 2021 ซึ่งจะเป็นวาระครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งประเทศยูเออีพอดี

ภารกิจสำคัญของยานสำรวจของยูเออี คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร เพื่อศึกษาว่าก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนที่เป็นองค์ประกอบของน้ำนั้นสูญหายไปจากดาวอังคารเพราะอะไร 

แม้ว่าการสำรวจอวกาศจะเป็นปัจจัยชี้วัดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ในทางหนึ่งก็มีผู้วิตกกังวลว่า โครงการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้เกิดขยะอวกาศเพิ่มขึ้น เพราะปกติแล้วก็มีชิ้นส่วนจากการปล่อยดาวเทียมและดาวเทียมปลดประจำการ กระจายทั่วไปในอวกาศอยู่แล้ว และเมื่อปีที่ผ่านมาก็มีรายงานบ่งชี้ว่า ขยะอวกาศจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในชั้นบรรยากาศของโลกอีกด้วย

ที่มา: MIT Technology Review/ Space Alert/ Phys.Org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: