ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช.มีมติไม่รื้อคดีการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต เมื่อปี 2553 ส่วนแกนนำ นปช. บุกทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ฟาก 'ณัฐวุฒิ' ลั่นไม่ยอมรับมติดังกล่าว

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไม่รื้อฟื้นคดีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ยื่นหลักฐานใหม่ต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม นปช.ปี 2553 ที่ ป.ป.ช. เคยยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดในการสั่งสลายการชุมนุม กลุ่ม นปช.

เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า ประเด็นเรื่องการสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัว เพื่อเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่ม นปช.จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่า เป็นช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และการชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมที่ไม่ปกติ ทำให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.จำเป็นต้องเข้าขอคืนพื้นที่

ทั้งนี้ หากภายหลังมีการพิสูจน์ได้ว่า การเข้าขอคืนพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเกินความจำเป็น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องรับผิดชอบ ซึ่งในที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ นปช.อ้างว่า การระบุว่า มีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการกล่าวอ้าง ไม่เป็นข้อเท็จจริง รวมทั้งประเด็นที่ นปช.เปรียบเทียบการสลายการชุมนุมระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 กับกลุ่ม นปช.ปี 2553 ว่ามีความแตกต่างกันนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมของ นปช.ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องสลายการชุมนุมเพื่อความสงบของบ้านเมือง และเจ้าหน้าที่สามารถนำอาวุธติดตัวได้ เพื่อป้องกันตัวตามหลักสากล

อีกทั้งยังพบว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้มีการพกพาอาวุธติดตัวปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ขณะที่การสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯนั้น เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐบาล และไม่ได้วางแผนมาก่อน ต่างจากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.นั้น เป็นไปเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ที่มีการวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน และพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก 

นอกจากนี้ การสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวกก็มีความผิดในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับนโยบายตามความผิดทางอาญา ปอ.157 ส่วนกรณีของนายอภิสิทธิ์นั้น การกระทำไม่มีมูลความผิดทางอาญา และได้มีการส่งเรื่องให้ดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหาร กรณีที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ป.ป.ช.จึงยืนยันว่า การวินิจฉัยเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานชัดเจน

ขณะเดียวกัน หลักฐานที่นายณัฐวุฒิยื่นต่อ ป.ป.ช.นั้น ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงไม่สามารถรื้อฟื้นคดีได้ และส่งหลักฐานที่นายณัฐวุฒิยื่นเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. ไปให้ดีเอสไอพิจารณารวมกับคดีในส่วนของนายทหารระดับสูง และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ที่ก่อนหน้านี้ป.ป.ช.เคยส่งกลับไปให้ดีเอสไอดำเนินการในส่วนเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ ระหว่างแถลงข่าว นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ได้เข้ามาฟังการแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า การใช้ดุลยพินิจในการสลายการชุมนุมของทั้งสองกลุ่มนั้น มีความยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยืนยันว่า ไม่ได้ตัดโอกาสในการยื่นคำร้อง โดยได้มีการวินิจฉัยทั้ง 4 คำร้องที่ยื่นมา หากนายณัฐวุฒิพบหลักฐานใหม่ก็สามารถยื่นต่อ ป.ป.ช.ได้อีกครั้ง

จากนั้น นายณัฐวุฒิ ได้ตอบกลับว่า ตนเองได้ศึกษามติและหลักการที่ ป.ป.ช.ตีกลับคดีมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงได้ยื่นหลักฐานใหม่อีกครั้ง และไม่เชื่อว่า นี่คือความยุติธรรม และไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่า ในฐานะมนุษย์ ตนยังมีสิทธิ์ที่จะทวงถามความยุติธรรม ยืนยันว่า ตนเองเจ็บปวด วันนี้ไม่ได้มานั่งฟังแถลง เพราะทราบผลมาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว แต่ที่มาวันนี้ เพราะมาแบกรับความยุติธรรมร่วมกับคนตาย พร้อมย้ำว่า การพิจารณาการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯกับกลุ่ม นปช.นั้น ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนายสมชายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่นายสมชายกลับมีความผิด ขณะที่นายอภิสิทธิ์ไม่มีความผิด ตนจึงต้องการคำตอบว่า ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน 

ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ย้ำว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เคยละเลยกรณีที่มีผู้เสียชีวิต แต่เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของดีเอสไอ ซึ่ง ป.ป.ช.จะติดตามและประสานอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวน

เล็งยื่น 2 หมื่นชื่อไต่สวน กรรมการ ป.ป.ช.หลังเลือกตั้ง

ต่อนายณัฐวุฒิ ระบุว่า หลังจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการอีกครั้ง แต่จะยังไม่มีการยื่นในเร็วๆนี้ จากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่จะเอามาปะทะกับกำแพงแห่งความยุติธรรม พร้อมทั้งจะรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง กว่า 20,000 รายชื่อ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา ภายหลังจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ และบ้านเมืองมีรัฐสภาที่มาจากประชาชน และยื่นต่อประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งกรรมการไต่สวนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป เพราะหากทำวันนี้ ยื่นเข้าไปในสภานี้ ตนเกรงว่าข้อสรุปจะไม่แตกต่างจากของเดิม 

"ที่มาในวันนี้ เพราะมีความเชื่อ เมื่อมนุษย์ถูกฆ่าตายกลางเมืองหลวง ทุกศพมือเปล่า จึงปฎิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาเหล่านั้น ต้องได้รับความยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การเลือกข้างเลือกฝักเรื่องฝ่ายทั้งสิ้น แต่ที่ต้องเทียบเคียงกับการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อเหตุการณ์ปี 2551 นั้น ไม่ใช่ว่าผมจะไปปฏิเสธ หรือชิงชังกับการบาดเจ็บล้มตาย ของพี่น้องผู้ชุมนุมในเหตุการณ์วันนั้น แต่เทียบเคียงถึงมาตรฐานในการใช้ดุลยพินิจหรือมาตรฐานของการอำนวยความยุติธรรม จากองค์กร ป.ป.ช.แตกต่างกัน" นายณัฐวุฒิ ระบุ 

อ่านเพิ่มเติม