ไม่พบผลการค้นหา
นิด้าโพล เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งผ่านสื่อโซเชียล แต่เห็นด้วยว่าพรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างเสรี

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โซเชียลมีเดีย (Social Media) กับการเลือกตั้งปี 2562” รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่างทุกภูมิภาค เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงผลการใช้โซเชียลมีเดียกับการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0       

เมื่อถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองของการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.92 ระบุว่า ไม่ได้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย และร้อยละ 23.08 ระบุว่า ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย

เมื่อถามถึงช่องทางของผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองของการเลือกตั้งปี 2562 ผ่านโซเชียลมีเดีย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.24 ติดตามผ่านเฟซบุ๊ก, 44.29 เปอร์เซ็นต์ ติดตามผ่านไลน์, ร้อยละ 24.22 ติดตามผ่านยูทูบ, ร้อยละ 5.88 ติดตามผ่านอินสตาแกรม และร้อยละ 5.54 ติดตามผ่านทวิตเตอร์

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อข้อมูลการเลือกตั้งปี 2562 จากโซเชียลมีเดียว่าเป็นจริงทุกข้อมูล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.18 ระบุว่า เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างว่าเป็นจริงทุกข้อมูล รองลงมา ร้อยละ 33.15 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นว่าเป็นจริงทุกข้อมูล ขณะที่ร้อยละ 4.79 ระบุว่า เชื่อมั่นว่าเป็นจริงทุกข้อมูล และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลของโซเชียลมีเดีย ต่อการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเลือกพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า ประชาชนร้อยละ 19.57 ระบุว่ามีผลมาก, ร้อยละ 37.22 ระบุว่า มีผลค่อนข้างมาก, ร้อยละ 25.32 ระบุว่า มีผลค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 17.17 ระบุว่า ไม่มีผลเลย และร้อยละ 0.72 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการ ให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างเสรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.62 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 36.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ