บริษัทเอเวอเร็กซ์ (Everex) ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค ของสิงคโปร์ ประกาศความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบท หรือ 'ชเวแบงก์' ของเมียนมา เพื่อเตรียมผลักดันบริการธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยตั้งเป้าว่าบริการดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานชาวเมียนมาซึ่งมาทำงานในประเทศไทยได้โอนเงินกลับประเทศอย่างปลอดภัย ไม่เสียค่าธรรมเนียมแพง และไม่ต้องพึ่งพาบริการส่งเงินกลับประเทศแบบนอกระบบ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงหรือสูญหาย
เว็บไซต์ซีซีเอ็น ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านธุรกรรมดิจิทัล รายงานว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีปั่นป่วนที่สร้างผลกระทบและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงการเงินการธนาคารทั่วโลก เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถทำให้การโอนเงินข้ามประเทศทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ทั้งยังสามารถตรวจสอบกระบวนการโอนเงินได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
เต็ง ซอว์ รองประธานบริหารของชเวแบงก์ เปิดเผยกับซีซีเอ็นว่า ชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เป็นกลุ่มสำคัญที่ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าสู่เมียนมา และการโอนเงินด้วยช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมก็ไม่ปลอดภัย ทางชเวแบงก์และเอเวอเร็กซ์จึงตั้งเป้าร่วมกันว่าจะพัฒนาบริการให้แก่แรงงานชาวเมียนมาเหล่านี้ได้รับความสะดวกและประหยัดเงินมากที่สุด
เอเวอเร็กซ์จะเป็นผู้รับผิดชอบเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับการทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศ และชเวแบงก์จะเป็นผู้จัดตั้งสถานีบริการด้านการเงินอีก 410 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับเงินปลายทางให้สามารถเบิกถอนเงินต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในอนาคต แต่ผู้ประกอบการทั้งสองแห่งยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งานได้จริงเมื่อใด
ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเมินว่าแรงงานจากเมียนมาที่ทำงานในไทย ทั้งถูกกฎหมายและนอกกฎหมาย มีจำนวนกว่า 3 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของแรงงานเมียนมากว่า 4.25 ล้านคนที่ออกไปทำงานต่างประเทศ ส่วนที่เหลือกระจายตัวไปทำงานที่ประเทศต่างๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกา ได้แก่ มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และสหรัฐฯ
แม้จะมีแรงงานชาวเมียนมาบางส่วนถูกหลอกและตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ แต่แรงงานส่วนใหญ่ลงทะเบียนทำงานอย่างถูกกฎหมาย และเป็นผู้สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่ประเทศเมียนมา โดยกระทรวงแรงงานเมียนมา ระบุว่า รายได้ที่แรงงานเมียนมาในต่างแดนส่งกลับประเทศ มีจำนวนรวมกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.64 แสนล้านบาท) จากการสำรวจเมื่อปี 2558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: