วงเสวนาปัญหาแรงงานต่างชาติที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากลเมื่อ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้แสดงความกังวลถึงปัญหาการขึ้นทะเบียน และขอใบอนุญาตของแรงงานต่างชาติ ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.ปีหน้า แต่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อออกหนังสือเดินทางมีล่าช้าจนทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลา ขณะที่บทลงโทษด้วยการปรับและจำคุกนั้นรุนแรง
นางสาว พัชรินทร์ หาญเจริญ ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่จะต้องขึ้นทะเบียนนี้เป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผันไปก่อนหน้านี้แล้วมีจำนวนล้านกว่าคน ซึ่งมาตรการผ่อนผันนั้นกำหนดให้ขึ้นทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.ปี 2561 ซึ่งคาดว่าอาจไม่ทันตามกำหนดเวลา ทำให้ขณะนี้คณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายแรงงานเตรียมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาแล้ว คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในอีกไม่นานนี้ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาที่หลายฝ่ายวิตกกันอยู่
ด้าน ซาย ทุน ส่วย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติย้ำว่าการที่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือกฎระเบียบเหล่านั้นทำให้ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นและเป็นเหตุให้ต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษเกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งอาจถูกจับและปรับหรือถูกรีดไถได้โดยง่าย แม้แต่กฎหมายที่ออกมากำหนดให้ต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆก็ยากที่แรงงานจะรู้หรือเข้่าใจเพราะไม่เคยมีการแปลออกมาเป็นภาษาที่แรงงานชาตินั้นๆจะเข้าใจได้ รวมทั้งจุดอ่อนของการออกคำสั่งหลายเรื่องคือเมื่อเกิดปัญหาและจะต้องแก้ไขมักใช้เวลานาน “เวลาออกกฎหมายทำได้รวดเร็ว แต่เวลาจะแก้ใช้เวลานาน”
เขาชี้ว่ากฎหมายใหม่ออกมาเป็นเวลาถึงครึ่งปีแล้ว “เราต้องทำตามโดยอ่านไม่ออก มีทั้งพม่า ลาว กัมพูชา ถ้าเราได้รับรู้กฎหมายก็จะได้ปฏิบัติตาม คำสั่งของกระทรวงแรงงานเราก็ทำตามตลอด ขึ้นทะเบียนทุกสองปี กระทรวงแรงงานจะได้เงิน 6,800 ล้านบาท เงินนี้จะย้อนกลับมาดูแลเราบ้างได้ไหม เช่นแปลกฎหมาย” และ “ค่าใช้จ่ายเราก็รู้ว่าต้องจ่าย เวลามีคนเอารัดเอาเปรียบ รัฐบาลก็รู้แต่ไม่เคยพิสูจน์ เวลาผิดมาไม่รู้ใครผิดใครถูก สุดท้ายก็กลายเป็นแรงงาน”
เขายังให้ความเห็นด้วยว่า หลายเรื่องที่จะกำหนดในกฎหมายนั้นอาจไม่เป็นจริง แต่ไม่มีการหาข้อมูลจากแรงงาน ดังนั้นในการออกกฎหมายควรจะรับฟังเสียงจากแรงงานบ้าง ที่ผ่านมาไม่ว่าจะภายใต้รัฐบาลใด จะมีการออกคำสั่งต่างๆในเรื่องแรงงานข้ามชาติที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆโดยที่ไม่เคยรับฟังเสียงจากแรงงานข้ามชาติ
“เราไม่ได้มาเรียกร้องอะไรเรื่องกฎหมาย เรามาก็หวังพึ่งทุกคน ใช้กำลังกายเข้าแลก ไม่ได้จะมาทะเลาะกับนายจ้าง เราอยากให้เศรษฐกิจไทยดี แต่กฎหมายมีทั้งดีและเสีย ถ้าจะปรับก็ควรรับฟังจากแรงงานบ้าง”
นอกจากนี้ข้อกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้ยกระดับในเรื่องการพัฒนาฝีมือ โดยการกำหนดให้แรงงานข้ามชาติเป็นได้เพียงกรรมกรแม้จะผ่านการทำงานมายาวนานและมีทักษะแล้ว
นายธนศักดิ์ กิจรุ่งโรจน์ ตัวแทนจากสภาหอการค้าไทยเห็นด้วยกับตัวแทนแรงงานเมียนมา เขาชี้ว่าหอการค้าไทยเรียกร้องมาโดยตลอดว่าให้เลิกใช้คำว่า “กรรมกร” เพราะหลายคนพัฒนาฝีมือไปจนเกินระดับ
" การจ้างแรงงานข้ามชาติมีความยุ่งยากมากมาย ตลอดเวลาที่ผ่านมาธุรกิจหรือนายจ้างต้องจ่ายเงินไปกับการจัดหาจำนวนมากที่ทำผ่านนายหน้าแต่ไม่ได้แรงงานมาทำงาน หลายครั้งถูกหลอก และเงื่อนไขต่างๆที่รัฐออกยังมีนายหน้านำไปเรียกเก็บเงินจากแรงงานอีกต่อด้วย"
นายธนศักดิ์เห็นว่าทุกฝ่ายต้องพยายามหาทางตัดปัญหาที่จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และแรงงานไม่ควรจะต้องรับผิดชอบในเรื่องของค่าจัดหาแรงงานยกเว้นค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจโรค ที่เหลือควรจะเป็นความรับผิดชอบของนายจ้าง แต่ขณะนี้รัฐบาลประเทศต้นทางบางประเทศเรียกเก็บเงินจากแรงงานสูง และมีระบบซับคอนแทร็คคือมีผู้รับเหมาช่วงต่อไปจัดการและเพิ่มต้นทุนซึ่งไม่สมเหตุสมผลเพราะนายจ้างฝ่ายไทยจ่ายไปแล้ว
ด้่านนายสถิต จันทร์กระจ่างจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเปิดเผยว่า ในวันนี้บริษัทใช้แรงงานกว่า 70,000 ในจำนวนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติกว่า 10,000 คน การใช้แรงงานข้ามชาติเริ่มจากการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ในระยะแรกทำโดยจัดจ้างผ่านการจัดหาให้ของผู้รับเหมาช่วง แต่มีปัญหาแรงงานไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้นลูกค้าของบริษัทเคยต่อว่าในเรื่องที่ผู้รับเหมาช่วงยังยึดเอกสารสำคัญเช่นหนังสือเดินทางจากลูกจ้างเอาไว้ ทำให้ในที่สุดบริษัทหันไปจ้างแรงงานตรงผ่านระบบเอ็มโอยู แรงงานต่างชาติกลายเป็นพนักงานมีสิทธิเทียบเท่าพนักงานคนไทย