ไม่พบผลการค้นหา
อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขฯ สปสช. เคาะ 11 ข้อเสนอสิทธิประโยชน์บัตรทอง สู่กระบวนการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความจำเป็นและผลกระทบรอบด้าน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขฯ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการกำกับทิศทางเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชาชน และพิจารณาบริการสุขภาพที่จำเป็น เหมาะสมและคุ้มค่าด้วยระบบการจ่าย เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 15 ปี ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเข้าถึงบริการขยายหลอดเลือดโดยการสวนหัวใจหรือได้รับยาละลายลิ่มเลือดทำให้อัตราตายลดลง

ปี 2560 อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขฯ ได้รวบรวมข้อเสนอในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มเติม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 7 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์, นักวิชาการ, ภาคประชาสังคม, กลุ่มผู้ป่วย, กลุ่มภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มประชาชนทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานภายใต้อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ 4 คณะ มีจำนวน 88 ข้อ และได้ทำการคัดกรองข้อเสนอ ทั้งกรณีซ้ำซ้อนหรือเป็นสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้ว ทำให้เหลือ 25 ข้อ 

ทั้งนี้อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ ได้พิจารณาคัดเลือกกระทั่งเหลือเพียง 11 ข้อ ในเบื้องต้นข้อเสนอสิทธิประโยชน์ต้องไม่ใช่ยาและวัคซีน เนื่องจากมีคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาแล้ว และกรณีเป็นเทคโนโลยีใหม่ต้องมีหลักฐานแสดงประสิทธิผล จากนั้นพิจารณาตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก คือ จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ การกระจายและความทั่วถึงของการให้บริการ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ทำให้เกิดภาวะล้มละลาย และความเป็นธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำเข้าถึงบริการ 

นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ที่ผ่านการคัดเลือกจากอนุกรรมการฯ จำนวน 11 ข้อ เป็นสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3 ข้อ และการรักษาฟื้นฟู 8 ข้อ ได้แก่  1.การปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย 2.การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง 3.ลิ้นหัวใจเทียม Aortic ชนิดไม่ต้องเย็บสำหรับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมในผู้สูงอายุ 4.การเบิกจ่ายค่าบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่อง 5.การเบิกจ่ายเครื่องประสาทหูเทียม 1 ข้าง ไม่เกิน 850,000 บาทให้ครอบคลุมทุกสิทธิ์ 6.สิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่ายการทำพลาสมาเฟเรซิส 7.การตรวจทางห้องปฏิบัติการวัณโรคค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาด้วยวิธี Molecular assay 8.การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับอุดกั้นด้วยเครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก 9.ชุดบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ 10.การฝึกทักษะและฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และ 11.การค้นกรองพยาธิใบไม้ในตับ

“ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ทั้ง 11 ข้อนี้ แม้ว่าจะผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ยังต้องผ่านกระบวนการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การประเมินความจำเป็นและผลกระทบเพื่อกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุข โดยมีการนำร่องกระบวนการในปี 2560-2561 เน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส เรียกว่าเป็นกระบวนการทำงานอย่างมืออาชีพ” อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข กล่าว

นพ.พิทักษ์พล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ทั้ง 11 ข้อนี้ ปัจจุบันมีการให้บริการโดยรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว แต่กระบวนการนี้จะเป็นการแยกจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายเพิ่มเติม (Top up) ให้กับโรงพยาบาล สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 4 และมีอัตราเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 ของผู้ป่วยมะเร็งที่พบในไทย แต่สามารถรักษาหายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม ซึ่ง สปสช.ได้เริ่มสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มในปีงบประมาณ 2561 นี้ เน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงช่วงอายุ 50-70 ปีขึ้นไปและมีประวัติครอบครัวเคยมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ นำมาสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เบิกจ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการ นับเป็นความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้กลุ่มเสี่ยงได้รับบริการคัดกรองอย่างทั่วถึงและเข้าถึงการรักษาในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น ลดอัตราการลุกลามที่นำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 

“ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ ได้มุ่งมั่นพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กระบวนการทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เน้นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และประโยชน์ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์จะได้รับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเดินไปอย่างยั่งยืน” นพ.พิทักษ์พล กล่าว