ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน ออกมาตรการช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีว่างงานเร่งด่วน ตั้งเป้า 100,000 คน มีงานทำใน 3 เดือน เดินหน้าแนะแนว ส่งเสริมอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงานกับสถานประกอบการและเครือข่ายจัดหางาน จับมือสถานศึกษาฝึกฝีมือเพิ่มทักษะ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้เปิดเผยถึงข้อมูลภาวการณ์มีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ว่ามีจำนวนคนว่างงานที่จบปริญญาตรีมากที่สุด จำนวน 170,900 คน กระทรวงแรงงานเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งจะต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีสาเหตุหลัก อาทิ การเปลี่ยนงานบ่อย รองานเนื่องจากลาออกจากงานเดิม การเลือกเรียนและจบในสาขาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน เลือกเรียนตามกระแส ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน เลือกงานหรือต้องการทำงานที่สบาย และเงินเดือนสูงๆ รวมทั้งพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานที่อยู่ในกรอบ เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีแนวทางการแก้ไขปัญหาว่างงานของผู้จบปริญญาตรีซึ่งกำหนดไว้ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 3 เดือน ได้แก่

1.แนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระให้บัณฑิตมีงานทำ มีรายได้ จำนวน 2,000 อัตรา

2.จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เว็บไซต์ http//:smartjob.doe.go.th และ Job box ของกรมการจัดหางาน 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 4,500อัตรา จัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา (Job Fair) 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในเครือข่าย อาทิ JobDB,BKK job,Jobtopgun,Adecco รวม 28,000 อัตรา ความร่วมมือกับ Line Jobs เพิ่มช่องบริการรับสมัครงานผ่านไลน์‎ 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในต่างประเทศอีก 500 อัตรา

3. กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล อินโฟกราฟฟิก เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น เป้าหมาย 5,000 คน 

"ในระยะยาวภายใน 1-2 ปี กระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการแนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนระหว่างภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน การสร้างจิตสำนึกนักเรียน นักศึกษา และครอบครัวให้มีทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันกฎหมายส่งเสริมการมีงานทำ ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเพิ่มทักษะด้านความรู้ความสามารถและการเรียนรู้ตลอดชีวิต" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ยังกล่าวว่า จะมีการขยายความร่วมมือกับโรงงานและสถานประกอบการในรูปแบบทวิภาคีตามโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้มีงานทำในสถานประกอบการ ควบคู่ไปกับการศึกษาต่อในสถานศึกษา ช่วยให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น และมีรายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย


อ่านเพิ่มเติม