กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อ เพจ Anti Sotus ของเครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่ภาพกิจกรรม “วัน-ละ-อ่อน”หรือการรับน้องชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี ซึ่งจะจัดขึ้นหลังเสร็จสิ้นพิธีไหว้ครู ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีพี่ๆ ม.6 มาทำกิจกรรมสานสัมพันธ์กันน้องใหม่
กิจกรรมช่วงหนึ่ง คือการ “จูบแผ่นดิน” คือการให้น้องใหม่ เอามือไขว้หลัง แล้วก้มหน้าลงไปจูบพื้นดินบนสนามฟุตบอลของโรงเรียน สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย บอกว่า น้องๆ ต้องยอมทำตามที่พี่สั่ง แม้จะรู้ว่าพื้นดินสกปรกเสี่ยงเกิดโรค ส่วนผู้ที่เห็นด้วยและออกมาปกป้องโรงเรียน บอกว่า นี่เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมรับน้องทั้งหมด เพื่อสร้างความสามัคคี และรักสถาบันการศึกษา
นายพันธ์กวี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( Anti Sotus ) กล่าวว่า กรณีนี้ทางแอดมินเพจ Anti Sotus ได้รับแจ้งเข้ามา เมื่อตรวจสอบก็พบว่า เป็นเรื่องจริง โดยพบภาพกิจกรรมเหล่านี้ในเพจของโรงเรียน นั่นหมายความว่า ทางโรงเรียนก็รับทราบว่าเกิดกิจกรรมนี้จริง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เนื่องจากระบบโซตัส หรือ “อำนาจนิยม” ได้เข้ามาสู่ระดับชั้นมัธยมอย่างเปิดเผยแล้ว เพราะก่อนหน้านี้จะเป็นเพียงการแอบๆ ทำกันเท่านั้น เช่น ปิดห้องว๊ากน้องใหม่หลังเลิกเรียน
อย่างไรก็ตาม การนำระบบโซตัส มาใช้กับนักเรียนมัธยม อาจทำให้เด็กส่วนหนึ่งยอมรับอำนาจนิยม และเสพติดการมีอำนาจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดระบบอุปถัมภ์ และแบ่งสีแบ่งกลุ่ม ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในสังคม และสร้างความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อว่า ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่จะทำให้พี่น้องเกิดความรักสามามัคคีกัน โดยไม่ต้องใช้อำนาจและความรุนแรง เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งมีอำนาจ ย่อมจะใช้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งไม่จบสิ้น จึงอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ช่วยกันตรวจสอบกิจกรรมรับน้อง ไม่ให้กลายเป็นช่องทางปลูกฝังการเสพติดอำนาจนิยม ซึ่งไม่ใช่วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย
"หลายเสียงบอกว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่มันก็ย้อนแย้งกลับกันว่า กลับเป็นอาจารย์ที่เขารู้เรื่องจะมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น ทำไมคนในองค์กรเหล่าโรงเรียนถึงอนุญาตให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ ทำไมพวกเขาถึงมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์...ทำไมถึงปลูกฝั่งสิ่งเหล่านี้ไปในเด็ก ทำไมเราไม่สอนให้เด็กคิดวิพากษ์ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21"นายพันธ์กวีกล่าว
ขณะที่เพจ นักเกรียน สวนกุหลาบ ระบุถึงกรณีจูบดินของโรงเรียนสวนกุหลาบ ชลบุรีโดยสรุปใจความว่า รูปจูบดินนี่น่าจะเป็นกิจกรรมวันละอ่อนรับน้องม.1 ของสวนกุหลาบชลบุรี ซึ่งกิจกรรมวันละอ่อนนี้ สวนกุหลาบในเครือคงจะมีการรับเอามาจากสวนกุหลาบวิทยาลัย(สวนปากคลอง) อีกที ไม่แน่ใจว่ารับเอาไปแค่ไหน ยังไง เพราะไม่เคยไปดูกิจกรรมนี้ที่สวนอื่นๆเลย
สำหรับที่สวนกุหลาบ กิจกรรมวันละอ่อนนี้มีมานานหลายสิบปีแล้ว งานนี้จะจัดหลังพิธีไหว้ครูในช่วงต้นเทอม1 หลังเปิดเทอม เป็นกิจกรรมที่พี่ม.6 จัดให้น้องม.1 รูปแบบจะออกไปทางรื่นเริง เล่นสนุกๆ กันเป็นหลัก ไม่บังคับหรือใช้ความรุนแรงกับน้อง และก็เป็นกิจกรรมที่มีครูอาจารย์และผู้ปกครอง(ในช่วงปีหลังๆ มานี้) เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ต้องยอมรับว่าบางฐาน ในบางปี อาจจะมีเล่นพิเรนทร์ไปบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรง ไม่เอามาเป็นสาระสำคัญของงาน และไม่ใช่สิ่งที่เราสนับสนุน
จำได้ว่ากรณีจูบดินนี้ก็เคยเป็นดราม่ากันมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งโดยปกติ ชาวสวนกุหลาบเมื่อพบว่าอะไรไม่ค่อยเวิร์คก็จะพยายามแก้ไขกัน โชคดีที่คุยกันด้วยเหตุผลโดยยึดถือความรัก ความสามัคคีกันของรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นสำคัญ หลังๆ มานี้กิจกรรมละอ่อนของจึงดีมาก แทบจะไม่มีปัญหาเลย ซึ่งคิดว่าอันนี้อาจจะต่างกับสวนกุหลาบในเครือโรงเรียนอื่นๆ ที่ยังไม่มีสภาพสังคมแบบนี้แข็งแรงเท่ากับเรา บางโรงเรียนนั้นเพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่กี่ปี บางแห่งก็เอาชื่อสวนกุหลาบไปสวมเข้ากับโรงเรียนอื่นที่มีอยู่เดิม ดังนั้นบางทีก็จะรับเอาวัฒนธรรมของสวนกุหลาบไปอย่างผิวเผิน หรือรับเอาไปแต่พิธีการ โดยไม่ได้สนใจจุดมุ่งหมายแท้จริงของกิจกรรม ซึ่งก็เป็นปกติของนักเรียนอายุประมาณนี้ ซึ่งก็เห็นเป็นกันทั่วไปแทบทั้งประเทศ และจะไปโทษแต่เด็กอย่างเดียวก็ไม่เหมาะ บางทีแนวคิดบางอย่างที่เกินเลยและไร้สาระก็ถูกส่งต่อมาจากครู อาจารย์หรือศิษย์เก่าเองก็มี ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีโครงสร้างในการจัดการอะไรแบบนี้แตกต่างกันไป
ทั้งนี้การจูบแผ่นดิน มีโอกาสเสี่ยงเป็น “โรคเมลิออยด์”ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “เมลิออยด์”ซึ่งพบได้ทั่วไปในน้ำและดิน ผ่านทางผิวหนังโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีรอยแผล หรือเข้าทางปอด การสำลักน้ำ หรือหายใจเอาฝุ่นเข้าไป แต่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน
การหายใจเอาฝุ่นดินที่มีเชื้อตัวนี้เข้าไปทำให้ติดเชื้อตัวนี้ได้ หลังจากติดเชื้อไปแล้ว อาการคือ จะมีไข้สูง มีการติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในข้อ เกิดฝีกระจายตามอวัยวะต่างๆ ฝีในต่อมน้ำเหลือง ในม้าม ในสมอง ในตา ในปอด ในหัวใจ ในตับ และติดเชื้อในกระแสเลือดถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่เชื้อโรคนี้จะไม่ติดต่อจากคนสู่คน
เชื้อโรคนี้ พบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือ ส่วนในไทยพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีละ 2,000-3,000 คน และมีโอกาสเสียชีวิตครึ่งหนึ่งจากการติดเชื้อ / การรักษาให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือดที่จำเพาะกับโรคอย่างน้อย 10 วัน และให้ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำอีกอย่างน้อยที่สุด 5 เดือน
ขอบคุณภาพ : FB/Anti-Sotus