ไม่พบผลการค้นหา
สมพงค์ ศิวิโรจน์ ผู้ก่อตั้งวงมาลีฮวนน่า ร้องพบเพลงที่ตัวเองแต่งถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากมาย ไม่เว้นแม้แต่โฆษณาของหน่วยงานภาครัฐอย่าง ททท. ซึ่งทาง ททท. เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และทาง ททท. ได้ตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงไปแล้ว ทำให้ตนไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง

เฟซบุ๊กชื่อ Nattharavut Muangsuk โพสต์ข้อความโดยระบุว่า อยากให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจ โดยเฉพาะสื่อและแฟนเพลงทั้งหลาย กล่าวคือ "สมพงค์ ศิวิโรจน์" ถ้าคอเพลงเพื่อชีวิตจะรู้จักชื่อนี้ดีว่ามีความสามารถมากแค่ไหน เพราะเป็นคนตั้งชื่อวง "มาลีฮวนน่า" และแต่งเพลงดังๆ ส่วนใหญ่ให้กับวงใน 3 อัลบั้มแรก แต่หลังจากมาลีฮวนน่าแยกจากค่ายไมล์สโตน ของมาโนช พุฒตาล ไปสังกัดดรีม แร็คคอร์ด เพื่อทำอัลบั้มชุดต่อๆ มา สมพงค์ ขอแยกจากวงไป (คือไม่ย้ายตาม) กระทั่งมาลีฮวนน่าวงแตก

หลังจากนั้นสมพงค์ ก็วาดรูป แต่งเพลงเอง และร้องเองโดยไม่ได้ใช้ชื่อมาลีฮวนน่าพ่วงท้าย แต่ต้องพบว่าเพลงที่แต่งถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากมาย มีการนำไปแอบอ้างจากศิลปินเพลงคนอื่น หรือแม้แต่ก๊อปปี้ดนตรีลงงานโฆษณาของหน่วยงานภาครัฐ 


และกรณีที่เลวร้ายสุดๆ คือเพลง "ช้าง" ที่สมพงค์ ศิวิโรจน์ แต่งและร้องออกขายปี 2552 มีคนอัพลงยูทูบ ช่วงมกราคม 2553 และเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออกโฆษณาชุด "กอดเมืองไทยให้หายเหนื่อย" ทางโทรทัศน์ และอัพลงยูทูบไม่นานหลังจากนั้น เมื่อลองฟังดูพบว่ามีความคล้ายคลึงกันระหว่างดนตรีหรือแม้แต่น้ำเสียงคนร้องในโฆษณาเรียกว่าเหมือนกระทั่งกลวิธีในการร้อง ซึ่งถ้าฟังรอบแรกต้องคิดว่าสมพงค์ คงไปรับงานเองด้วยซ้ำ แต่เปล่า ไม่ได้สักบาท เพิ่งมาทราบข่าวทีหลังด้วยซ้ำว่างานตัวเองถูกเอาไปแปลงขาย


ที่ร้ายกว่านั้นมีการแจ้งทางยูทูบให้ลบเพลงช้าง ออกจากยูทูบ โดยระบุว่าเพลงช้างละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้สมพงค์กำลังรวบรวมเอกสารเพื่อดำเนินการทางด้านกฎหมาย แต่เรื่องนี้ต้องถูกพูดถึงในวงกว้างกว่านั้น เพราะนี่คือ "หน่วยงานภาครัฐ"

ด้านนายกฤษณะ แก้วธำรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีนี้กับสำนักข่าวมติชนว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 8 ปีที่แล้ว ในขณะนั้นบริษัท ลีโอ เบอร์เน็ทท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำโฆษณาให้กับ ททท. ได้ตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเรียบร้อยแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ๆ ถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น พร้อมยืนยันว่า ททท. ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง ซึ่งหากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงแจ้งความจริง ททท.คงต้องถามไปทางบริษัท ลีโอ เบอร์เน็ทท์ เพราะถือเป็นคู่กรณีโดยตรงว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ และเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องมีหลักฐานว่า ใครที่ต้องการให้เอาเพลงออกจากยูทูบ