ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกานักการเมือง ยกฟ้อง คดีที่ ป.ป.ช.อุทธรณ์ให้เอาผิด พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ชี้ชัดม็อบพันธมิตรฯ บุกรัฐสภาไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่ทำตามขั้นตอนกฎหมาย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาอุทธรณ์ ยกฟ้อง พลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ผบช.น.ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 0 ยื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว ในฐานความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ยับยั้งวิธีการสลายม็อบที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต กรณีสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ในฐานะจำเลยที่ 4 ซึ่งศาลฎีกาฯได้ยกฟ้องคดีนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 

ส่วนจำเลยที่ 1-3 คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นั้น ป.ป.ช.ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์โดยศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสลายการชุมนุมทั้งช่วงเช้า บ่ายบริเวณรัฐสภาไปจนถึงตอนค่ำที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุเนื่องจากต้องเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อฟังการแถลงนโยบายจากรัฐบาล และเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ประกอบกับมีการเจรจาและแจ้งเตือนก่อนที่จะใช้แก๊สน้ำตาแล้ว อีกทั้งผู้ชุมนุมยังใช้หนังสติ๊ก ก้อนหิน แท่งเหล็ก ใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้จำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชน 

ส่วนในช่วงค่ำผู้ชุมนุมก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล อีกทั้งจากการพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นผลจากแก๊สน้ำตา ในทางตรงกันข้ามกลับพบสารที่มีอยู่ในส่วนประกอบของระเบิดซีโฟร์ และระเบิดแสวงเครื่องที่ทำเอง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตาก็ยืนยันว่าแก๊สน้ำตาไม่เคยทำให้ผู้ใดเสียชีวิต นอกจากนี้ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก็ระบุว่า แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชนตามแนวทางของนานาประเทศ ตุลาการเสียงข้างมากจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ไปก่อนหน้านี้ คำอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.จึงฟังไม่ขึ้น

ภายหลังฟังคำพิพากษาพลตำรวจโทรสุชาติ กล่าวว่า พอใจกับคำพิพากษาและน้อมรับหลังจากสู้คดีมานานเกือบ 10 ปี โดยยืนยันว่าปฏิบัติตามหน้าที่และกฎหมาย แต่เห็นว่าคำพิพากษานี้ไม่สามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติของตำรวจได้ เพราะต้องดูแต่ละสถานการณ์ แต่ก็ถือเป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีความรอบคอบในการปฏิบัติ รวมทั้งต้องยึดกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม