ไม่พบผลการค้นหา
สมาชิกบอร์ดด้านสุขภาพเล็งยื่นใบลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง หลังต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยืนยันลาออกจากบอร์ด สปสช. ไม่เกี่ยวกับการต้องยื่นทรัพย์สิน ย้ำตนเองมีความโปร่งใส และยื่นมาตลอด

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ 4 ราย ดังนี้ 1.) นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข อดีตปลัด สธ. เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2.) พล.อ.นพ.เอกจิต ช่างหล่อ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก 3.) ดร.ดวงตา ตันโช ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง และ 4.)นางสมศรี วัฒนไพศาล รองอัยการสูงสุด เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ซึ่งแต่ละท่านถือว่ามีความเหมาะสมในการทำหน้าที่และเคยทำงานในบอร์ด สปสช.มาก่อน

เมื่อถามถึง การลาออกของผู้ว่าฯ กทม. และผู้แทนสภาเภสัชกรรม นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม.ได้ลาออกจริง แต่มีการหารือโดยได้ส่งผู้แทนจาก กทม. คือ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. มาเป็นผู้แทน สำหรับผู้แทนสภาเภสัชกรรม ได้ ภญ.วรนัดดา ศรีสุพรรณ ซึ่งเคยทำเรื่องการจัดซื้อยารวม สปสช.มาทำหน้าที่แทน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการลาออกของบอร์ดอื่นๆ เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่า มีการลาออก แต่ยังไม่เห็นหนังสือรายงานเข้ามาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม คิดว่าทุกคนกำลังรอทาง ป.ป.ช. อยู่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนประกาศอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะชัดเจนภายในเดือนนี้(ธ.ค.61) ซึ่งถ้าใครยังลังเลอยู่ขอให้รอความชัดเจนตรงนี้ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า บอร์ดในแวดวงสาธารณสุข มีกรรมการยื่นหนังสือขอลาออกบ้างแล้ว โดยบอร์ด สปสช. มี 6 คน บอร์ด สรพ. มีข่าวว่าจะลาออกยกชุด แต่ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนบอร์ด สพฉ. มีข่าวว่ายื่นลาออก 3 คน ขณะที่บอร์ด สวรส. มีผู้แสดงความประสงค์ แต่ยังไม่ยื่นหนังสือ 2 คน

ด้าน นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผอ.สรพ. กล่าวว่า บอร์ด สรพ. มีกรรมการทรงคุณวุฒิ 8 คน ยื่นขอลาออก 3 คน จึงต้องทำการสรรหากรรมการใหม่ 3 คน และต้องตั้งกรรมการ 1 ใน 5 คน มาเป็นรักษาการประธานบอร์ด สรพ.ไปก่อน คาดว่าไม่กระทบกับการทำงานมาก แต่จะมีผลทำให้การพิจารณาเรื่องต่างๆ มีความล่าช้าลง เพราะบอร์ดชุดนี้ก็เพิ่งทำการแต่งตั้ง

ด้าน นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ หนึ่งในกรรมการบอร์ด สรพ. กล่าวว่า ตนไม่ได้คัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะถือเป็นการป้องกันการทุจริตได้ แต่คิดว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะอาจกระทบต่อบุคคลที่สามหรือไม่ ที่สำคัญตนมองว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและมีการเปิดเผย กับการที่ตนมานั่งทำงานเป็นบอร์ดให้ สรพ. ซึ่งเป็นองค์การมหาชน งบประมาณไม่ได้มากมาย และการตัดสินใจพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็เป็นองค์คณะ ไม่ใช่รายบุคคล จึงมองว่า ต้องถึงขนาดเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะเลยหรือ ซึ่งตนก็ไม่ใช่มาทำงานการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อยื่นหนังสือขอลาออกไปแล้ว ก็คงต้องอยู่ที่รัฐมนตรีพิจารณาต่อไป


'อัศวิน' ย้ำลาออกบอร์ด สปสช. ไม่เกี่ยวยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สาเหตุที่ลาออกจากกรรมการ บอร์ด สปสช. เพราะไม่เคยร่วมประชุม ได้แต่มอบหมายผู้เกี่ยวข้องเป็นตัวแทนร่วมประชุมตลอด บางครั้งก็มีประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์บ้าง จึงเห็นควรให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดยตรงเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนจะดีกว่า โดยในสัดส่วนของ บอร์ด สปสช. จะต้องมีผู้แทนจาก กทม. ร่วมเป็นคณะกรรมการ 1 ท่าน ดังนั้น เมื่อตนลาออกแล้ว ก็จะมอบหมายให้ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ หรือ นพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นคณะกรรมการแทนผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับด้านการแพทย์และอนามัย

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ยืนยันว่า ส่วนเหตุผลที่ลาออก ไม่เกี่ยวข้องการกับยื่นทรัพย์สิน เพราะที่ผ่านมา ได้ยื่นมาตลอดเวลา 21 ปีแล้ว ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการตำรวจ รวมทั้ง ยังยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ขณะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ กทม. ด้วย และส่วนตัวเห็นว่าการยื่นทรัพย์สินเป็นเรื่องดี เพื่อจะได้ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเตรียมตัวลงเล่นการเมืองนั้น ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะหากจะเล่นการเมือง ก็สามารถลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ตอนนี้ แล้วไปลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ส.) ได้ทันที แต่ตอนนี้ ตนลง ส.ส.ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด