ไม่พบผลการค้นหา
จากนี้ไปหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) จะไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครในภาพยนตร์เท่านั้น แต่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและแทรกซึมเข้ามาใกล้ตัวมนุษย์มากขึ้นทุกขณะ จนเราอาจไม่ทันรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติที่มีตามบ้านเรือนต่าง ๆ ก็อีกหนึ่งตัวอย่างของหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ตอนนี้กลายเป็นผู้ช่วยพ่อบ้านแม่บ้านตัวยงที่ช่วยทำความสะอาดบ้านได้อย่างง่ายดาย แถมประหยัดแรงอีกต่างหาก ไม่ต้องยืนหลังขดหลังแข็งกวาดบ้านให้เมื่อยและเสียเวลา

แค่กดปุ่มเปิดใช้งานแล้วปล่อยให้เจ้าเครื่องนี้ทำความสะอาดพื้นห้องไปเรื่อยๆ เพียงเท่านี้ก็สะอาดในพริบตา โดยที่ไม่ต้องห่วงว่ามันจะวิ่งไปทิศทางไหนบ้าง เพราะพวกมันถูกสร้างให้เรียนรู้ทิศทางการเคลื่อนที่ของตัวเองทั้งเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวาก็ทำได้เอง ไม่ต้องมีมนุษย์คอยควบคุม นอกจากนี้ผู้ผลิตบางรายยังตั้งโปรแกรมให้ตัวเครื่องสามารถเดินกลับแท่นชาร์ตได้เองเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด 

"เครื่องดูดฝุ่นโรบอท ตอนแรกเราก็ไม่คุ้นเคย แต่เดี๋ยวนี้มีการใช้งานแพร่หลาย ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นเอไออย่างหนึ่ง ที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ช่วงแรกมันจะไม่รู้จักทิศทาง แต่ถูกพัฒนาให้รู้จักทิศทางมากขึ้นจนสามารถกลับแท่นชาร์ตเองได้" ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AIAT) เล่าให้ฟังถึงพัฒาการของเอไอที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น

ในต่างประเทศ มีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อเป็นเครื่องทุ่นแรงมนุษย์ในการทำงานยากๆ ที่ต้องใช้หลักคำนวนทางคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลที่ทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซาค้นพบระบบสุริยะใหม่ที่มีดาวเคราะห์ในจำนวนเท่ากับระบบสุริยะที่โลกของเราอาศัยอยู่ ซึ่งห่างออกไปถึง 2,545 ปีแสง

อีกหนึ่งปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกเสียงฮือฮาที่สุดในปี 2560 คือ "หุ่นยนต์โซเฟีย" ที่เพิ่งได้สิทธิความเป็นพลเมืองจากประเทศซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ได้รับสิทธินี้ อีกทั้งโซเฟียยังประกาศชัดว่าอยากทำงานและมีครอบครัว จนบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการวิทยาศาสตร์ เช่น อีลอน มัสก์, ศ.สตีเฟน ฮอว์กินส์ และบิลล์ เกตส์ ออกมาเตือนด้วยความวิตกกังวลว่าการพัฒนาหุ่นยนต์เอไอมากไป จนมนุษย์ควบคุมไม่ได้อาจกลายเป็นภัยต่อมนุษย์และถึงขั้นสูญสิ้นมนุษยชาติเลยก็ว่าได้


สัมภาษณ์หุ่นยนต์โซเฟีย เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์

สำหรับประเทศไทยแนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้นั้น ดร.เทพชัย กล่าวว่า ในปีนี้ (61) จะเห็นการพัฒนาเอไอในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านภาษา เช่น แชทบอทกับคอลเซ็นเตอร์ที่ต่อไปหลายหน่วยงานจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้มากขึ้น อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะนำเอไอไปใช้งานด้วยเช่นกัน

โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) คาดการณ์ว่าการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนแรงงานจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบการจ้างแรงงาน รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดข้อขัดแย้งด้านแรงงานได้ในอนาคต

สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากเอไอนั้น ดร.เทพชัย มองว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่ใช่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นี้ และคงต้องช่วยกันระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมาการใช้งานเอไอยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่


"เทคโนโลยี สร้างมาเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพิ่มความสะดวกสบาย นำไปช่วยในงานต่างๆ แต่ต้องนำไปใช้ให้ถูกวิธี เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่ถ้านำไปใช้ไม่ถูกทางก็อาจเกิดอันตรายได้ จึงควรช่วยกันระวัง"ดร.เทพชัย กล่าว


ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำเอไอมาใช้วางโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะกับประเทศไทยและสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้พัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อยๆ และคาดว่าจะมีการนำเอไอไปใช้งานในหลายๆ สาขามากขึ้น




vlcsnap-2017-12-23-11h59m09s135.png

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ

นอกจากนี้ทางห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย หน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติยังได้พัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเอไอ อย่างเช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล (data analytics)ขั้นสูงที่ต้องใช้ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งในส่วนนี้ทางเนคเทคได้เตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับไว้แล้ว รวมทั้งการพัฒนาด้านภาษาที่สื่อสารกับหุ่นยนต์ โดยปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งในไทยเริ่มเข้ามาให้ความสนใจและคาดว่าจะนำไปใช้ในกิจการของตัวเองในอนาคต

ดร. เทพชัย เพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการ อาจารย์ และนักวิจัยจากหลายๆ แห่งได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AIAT) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเกี่ยวกับภาษา, สาขาเกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในด้านงานต่างๆ ทั้งการแพทย์ ความปลอดภัย หรือการประมวลผลทางภาพที่มีการนำเอไอไปใช้งานค่อนข้างเยอะ โดยสมาคมแห่งนี้จะเป็นหน่วยงานที่คอยขับเคลื่อนการพัฒนาเอไอให้ก้าวหน้ามากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ใช้งานทั่วไปที่ยังไม่คุ้นเคยกับเอไอมากนัก ก็สามารถขอรับข้อมูลคำแนะนำ หรือคำปรึกษากับงานทางด้านเอไอจากทางสมาคมฯ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ จะร่างสมุดปกขาวคู่มือการใช้งานเอไอ เพื่อช่วยให้หน่วยงานต่างๆ รู้ขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีเอไอไอย่างถูกต้องและทำงานกับเอไอหรือหุ่นยนต์ได้ราบรื่นมากขึ้น

"อย่ามองว่าเอไอจะเข้ามาทำให้มนุษย์เกิดความเกลียดคร้านเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ขอให้มองว่าเอไอจะมาช่วยเก็บข้อมูลการใช้ชีวิตและเป็นผู้ช่วยในการตรวจสอบตัวเราเองเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจะดีกว่า"ดร.เทพชัยกล่าวว่า


เทรนด์ของเอไอที่จะเกิดขึ้นในปี 2018

1. งานบริการสุขภาพ การแพทย์ โดยเอไอจะเข้าไปช่วยแพทย์ให้สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าเมื่อก่อน

2. Deep Learning จะเข้าไปมีบทบาททางด้านการจำลองและการออกแบบในเชิงวิศวกรรม โดยอีก 3-5 ปีนับถัดจากนี้ไป Deep Learning จะกลายเป็นตัวเร่งให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เคยต้องใช้เวลานานๆ ให้ลดเวลาลงกว่าครึ่ง

3. เอไอ จะกลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบรักษาพยาบาลภายในคลินิก

4. เอไอ กลายเป็นเทคโนโลยีหลักในการสร้างสื่อ เช่น สร้างดนตรีที่ผู้ฟังแต่ละคนชอบ

5. การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีจะกลายเป็นการลงทุนเพื่อรองรับเอไอ โดยสัดส่วนการลงทุนประมาณ 25% ของการลงทุนด้านไอทีจะเป็นการลงทุนในเรื่องของเอไอ

6. ไบโอเมตริกส์ หรือการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ, สแกนหน้า, ฝ่ามือ ดีเอ็นเอ จะถูกนำมาใช้ทดแทนบัตรเครคิต, ใบขับขี่ และบาร์โค้ด นับว่าป็นการเปลี่ยนแปลงของวงการรักษาความปลอดภัย

7. Deep Learning จะเข้ามาช่วยสร้างข้อมูลเชิงปริมาณให้กับเนื้อหาที่หลากหลาย

8. เอไอจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนมากขึ้น เพราะต่อไปหุ่นยนต์จะสามารถทำงานที่ซับซ้อน และสามารถช่วยงานต่างๆ ที่น่าเบื่อของมนุษย์ได้

9. เอไอ ช่วยงานวิจัยด้านดาราศาสตร์สมัยใหม่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะเอไอจะช่วยค้นพบเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่คาดไม่ถึงได้มากขึ้นโดยตรวจสอบจากข้อมูลคลื่นแรงโน้มถ่วง

10. เอไอ ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวจะมีความฉลาดมากขึ้นทุกวันจากการเรียนรู้ชีวิตประจำวันของคนในแต่ละวัน และรวบรวมข้อมูลมากขึ้น เข้าใจถึงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของคน จนสามาถเข้ามาช่วยทำสิ่งต่างๆ ให้ตรงใจได้

ข้อมูลจาก