นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (เอดส์) จะมีภูมิต้านทานในร่างกายที่อ่อนแอ ทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งเชื้อวัณโรคได้ง่าย หากผู้ป่วยวัณโรคมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย จะทำให้เชื้อวัณโรคมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นกว่าปกติคือ มีไข้ยาวนานกว่าปกติ น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า การแพร่กระจายของวัณโรคปอดไปยังอวัยวะอื่นๆมากกว่า เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระดูก หรือต่อมน้ำเหลือง ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก นอกจากนี้อาจเกิดอาการข้างเคียงจากยาที่รักษาวัณโรค เช่น การแพ้ยา ภาวะดื้อยา และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคปอด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการรักษาวัณโรคในปัจจุบันจะให้การรักษาระยะสั้นประมาณ 6 เดือน หากผู้ป่วยได้รับการรักษาจนครบกำหนดและไม่ดื้อยา พบว่ามีโอกาสหายขาดมากกว่าร้อยละ 95 แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยที่แพ้ยาง่ายและไม่มา รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน และการรักษาขาดความต่อเนื่อง ส่วนการรักษาเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การให้ยาต้านไวรัส เพื่อชะลอความเสียหายที่จะเกิดกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจึงควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่างๆอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. รับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยารักษาวัณโรค
2. รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และพักผ่อนให้เพียงพอ
3. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือ จนกว่าอาการไอจะลดลงหรือหายไป
4. ปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม และบ้วนเสมหะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด
5. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
6. งดบริจาคเลือดและอวัยวะต่างๆ
7. งดสิ่งเสพติดทุกชนิด
8. ควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง