ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จี้รัฐบาลเพิ่มวงเงินเบี้ยยังชีพขั้นต่ำ 6,000 บาทขึ้นไป หลังผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่กังวลว่าเมื่ออายุ 60 ปี พวกเขาจะเผชิญกับปัญหาขาดรายได้ เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญแห่งชาติ โดยเล็งเห็นว่า ในปี 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จึงอยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่ภาวะดังกล่าว ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่กังวลว่า เมื่ออายุ 60 ปี พวกเขาจะเผชิญกับปัญหาขาดรายได้ 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพและรายได้  จึงพยายามวางแผนชีวิตด้วยวิธีการออมเงิน ทำประกันแบบออมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุนต่างๆ โดยไม่ต้องรอรัฐจัดสรรสวัสดิการให้  แต่กลุ่มดังกล่าวอาจเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการออม แต่โจทย์สำคัญ คือ คนที่ไม่มีกำลังเพียงพอจะมีคุณภาพชีวิตอย่างไร 

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องจัดเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า และเห็นว่าเบี้ยยังชีพที่รัฐจัดสรรให้ในปัจจุบันราว 600-1,000 บาท ไม่เพียงพอ ส่วนจำนวนที่จะทำให้ยังชีพได้อยู่ที่ 6,000 บาทขึ้นไป 


"เรื่องหลักประกันด้านรายได้ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะว่าตอนนี้เรื่องสุขภาพที่คนกังวลเยอะๆ มันมีระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมารองรับอยู่แล้ว เรื่องการเจ็บป่วยอย่างน้อยที่สุด มีการรักษาพยาบาลแน่ๆ แต่ว่าเรื่องหลักประกันด้านรายได้ตอนนี้เป็นภาระลูกหลาน ถ้าเราไปสำรวจในแต่ละครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเงินค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุมาจากลูกหลาน เบี้ยยังชีพที่รัฐบาลให้ไม่เพียงพอ และเมื่อเป็นอย่างนี้ ลูกหลานก็อยู่ในฐานะที่ไม่ดี ถ้าทำงานในโรงงานเริ่มต้นที่ 6,000-8,000 บาท เฉพาะที่ดูแลครอบครัวตัวเองก็อาจจะยังไม่พอเลย แล้วถ้ามีพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุที่ต้องดูแลก็เดือดร้อน" นายนิมิตร์ กล่าว

ส่วนแหล่งรายได้ที่รัฐสามารถนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการได้ คือต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ให้เป็นธรรม ยกเลิกการลดหย่อนภาษี รวมถึงเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บภาษีหุ้นและภาษีที่ดิน เพื่อนำรายได้มาจัดสรรเป็นรัฐสวัสดิการ ส่วนรัฐสวัสดิการในปัจจุบันที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด คือ การรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มกราคม 2562 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เตรียมจัดเวทีเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมรับฟังปัญหา เพื่อสะท้อนให้รัฐบาลใหม่ในอนาคต คำนึงถึงวิกฤตรัฐสวัสดิการ