ไม่พบผลการค้นหา
รมว.สธ.สั่งโรงพยาบาลทุกแห่งจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉิน เน้นถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที ช่วยผู้บาดเจ็บถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิต และความพิการลง

วันนี้ (30 ธันวาคม 2560) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบการส่งต่อ เพื่อดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง และมอบให้นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรองปลัดกระทรวงทั้ง 4 คน ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานที่ต้องดูแลประชาชน ไม่ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวในช่วงเทศกาลสำคัญ ทั้งที่โรงพยาบาล จุดบริการประชาชน และด่านชุมชน รวมทั้งติดตามความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ (EOC) ในระดับจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ปริมณฑล และจังหวัดที่มีสถิติการบาดเจ็บสูงทุกภาค 

ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุและศูนย์สั่งการ ทางสายด่วน 1669 ที่มี 300 คู่สายทั่วประเทศ หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวม 8,621 ทีม ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 165,158 คน เพื่อให้บริการผู้ประสบเหตุถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที ถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิต และความพิการลง และจัดทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะที่ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู เตียงสำรอง ระบบการส่งต่อของโรงพยาบาลเครือข่าย พร้อมดูแลผู้บาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุหมู่ หรืออุบัติเหตุรุนแรงตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมสนับสนุนการรณรงค์ “ดื่มแล้วขับ จับตรวจแอลกอฮอล์” โดยตรวจเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจส่งตรวจ 

รวมทั้ง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทำงานร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่ อสม.ประจำจุดบริการและด่านชุมชน เพื่อสกัดผู้ดื่มสุราไม่ให้ขับรถออกจากหมู่บ้าน ลดการเกิดอุบัติเหตุ  และจัดหน่วยกู้ชีพพื้นฐานและระดับสูง (BLS / ALS) อยู่ประจำบนเส้นทางถนนสายหลัก ที่มีจุดตรวจ / จุดบริการ อยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว โดยให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงกำกับ ติดตามการทำงานของจังหวัดในความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ได้ให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ (EOC) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นศูนย์ประสานงาน ติดตามข้อมูล และสนับสนุนการทำงานของทุกจังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง