ไม่พบผลการค้นหา
กูเกิล ดันบริการคลาวด์คอมพิวติงเป็นเครื่องมือในการพลิกโฉมธุรกิจไทยให้เข้าถึงเครื่องมือยุคดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ ชูจุดเด่นด้านความยืดหยุ่น เปิดทางเลือกให้ใช้ร่วมกับคลาวด์เจ้าอื่นและเซิร์ฟเวอร์แบบเก่าได้

วันที่ 26 กันยายน กูเกิล ประเทศไทย จัดงานกูเกิลคลาวด์ซัมมิต (Google Cloud Summit) ที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 ณ รอยัล พารากอนฮอล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชูจุดแข็งบริการคลาวด์ของกูเกิลที่ช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ โดยมีพันธมิตรธุรกิจอย่างกสิกร-บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือเคบีทีจี (Kasikorn Business-Technology Group: KBTG) และทรู ดิจิทัล กรุ๊ป (True Digital Group) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้ระบบคลาวด์

google cloud

โดยทั่วไปแล้วเมื่อพูดถึงคลาวด์ (cloud) เรามักจะนึกถึงบริการคลาวด์สตอเรจ (cloud storage) หรือบริการพื้นที่รับฝากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เช่น ฮ็อตเมล หรือกูเกิลไดร์ฟ ซึ่งเป็นการเก็บไฟล์ของเราไว้บนคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจอยู่ห่างไปถึงอีกซีกโลก แต่แพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติง (cloud computing) อย่างกูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) นั้นเป็นมากกว่าแค่การนำไฟล์ข้อมูลไปเก็บไว้เท่านั้น แต่เสมือนเป็นการใช้ทรัพยากรเครื่องเซิร์ฟเวอร์และเครื่องมือต่างๆ ของบริษัทอย่างกูเกิล หรือไมโครซอฟต์ได้

คลาวด์คอมพิวติง เป็นแพลตฟอร์มระบบประมวลผล ซึ่งมีทั้งบริการโครงสร้างพื้นฐานอย่างการเช่าเซิร์ฟเวอร์เสมือนพร้อมคนดูแลระบบให้ 24 ชั่วโมง การเก็บข้อมูลและประมวลผล ไปจนถึงการใช้งานเฉพาะทางอย่างบริการโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงและเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ที่ได้รับการฝึกมาแล้ว

ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายรายด้วยกัน เช่น ไมโครซอฟต์แอเชอร์ (Microsoft Azure) และแอมะซอนเว็บเซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) ซึ่งต่างมีบริการย่อยนับร้อยที่ช่วยองค์กรต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation)

สำหรับกูเกิลคลาวด์นั้น เน้นให้บริการโซลูชัน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย การบริหารจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ธุรกิจแบบอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิง และการเพิ่มประสิทธิผลการทำงานและสนับสนุนการทำงานร่วมกันในองค์กร

ทิม ไซแนน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกูเกิลคลาวด์ ได้ยกตัวอย่างบริการบางส่วนของกูเกิลคลาวด์ที่พาร์ตเนอร์นำไปใช้ เช่น สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ ได้ใช้วิชันเอพีไอ (Vision API) หนึ่งในโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงของกูเกิลคลาวด์ สำหรับวิเคราะห์และจัดประเภทเนื้อหาในรูปภาพซึ่งทางนิวยอร์กไทมส์มีอยู่กว่า 7 ล้านรูป และพาร์ตเนอร์อย่างแอร์เอเชีย ก็ได้ใช้เอไอต่างๆ ของกูเกิลคลาวด์ สำหรับฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ จัดตารางงานของลูกเรือ

Google cloud
  • ทิม ไซแนน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกูเกิลคลาวด์

ปัจจุบันแพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติง ได้รับความสนใจโดยองค์กรทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กด้วยคุณสมบัติที่ช่วยลดภาระในการดูแลรักษาระบบและเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ทำให้โปรแกรมเมอร์ทำงานด้านการพัฒนาโปรแกรมได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องระบบ รวมถึงสามารถขยายหรือปรับลดกำลังประมวลผลของคลาวด์ได้ตามความจำเป็นในการใช้งานและจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง ต่างกับการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่มีศักยภาพตายตัว

ตะวัน จิตรถเวช กรรมการผู้จัดการบริษัทกสิกรโปร (Kasikorn Pro) ในเครือกสิกร-บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่าบริษัทในประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากคลาวด์ ซึ่งทั้งปลอดภัยกว่า ช่วยลดต้นทุน และรองรับการขยายตัวได้อย่างไร้ขีดจำกัดตราบเท่าที่จะจินตนาการได้

“เมื่อคุณสร้างอะไรด้วยตัวเอง คุณถูกจำกัดกรอบด้วยทรัพยากรที่มี แต่คลาวด์ปลดล็อกในจุดนี้ได้ คลาวด์เป็นทั้งเทคโนโลยีและพาร์ตเนอร์ชิป คลาวด์เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องใช้เวลานานในการสร้างขึ้นมา แต่ผู้ให้บริการได้สร้างคลาวด์มาเป็นบริการที่พร้อมให้เราใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราทำอะไรได้ใหญ่ขึ้น เร็วขึ้น และเป็นผู้นำของเอเชียได้” ตะวัน กล่าว

google cloud
  • ตะวัน จิตรถเวช กรรมการผู้จัดการบริษัทกสิกรโปร (ขวา) / รีด แอนเดอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (กลาง)

รีด แอนเดอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท ทรู ดิจิทัล กล่าวว่าคลาวด์ช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากร สามารถเพิ่ม-ลดความแรงหรือจำนวนหน่วยประมวลผลได้ตามช่วงที่มีผู้ใช้บริการเยอะหรือน้อย ไม่ต้องซื้อเครื่องประมวลผลเป็นหมื่นเครื่องมาเปิดเครื่องตั้งทิ้งไว้เอง

ทิม ไซแนน ยังได้ชูจุดเด่นของกูเกิลคลาวด์ที่ต่างจากเจ้าอื่น โดยเน้นการเปิดกว้างให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกและความยืดหยุ่น ด้วยแอนธอส (Anthos) โซลูชันซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงกลางปีนี้ ที่เป็นซอฟต์แวร์ใช้งานทั้งแบบไฮบริดคลาวด์ (hybrid cloud) และมัลไทคลาวด์ (multi-cloud) กล่าวคือเป็นวอฟต์แวร์ที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้กูเกิลคลาวด์ควบคู่ไปกับระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ที่บริษัท (on-premise) หรือใช้ร่วมกับคลาวด์ของเจ้าอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ

เนื่องจากบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ล้วนมีแพลตฟอร์มหรือโปรแกรมที่บริษัทใช้งานมาอย่างยาวนาน จึงยากที่จะย้ายระบบทั้งหมดขึ้นสู่คลาวด์ แอนธอสจึงเป็นโซลูชันที่ทำให้โปรแกรมที่เขียนขึ้นในระบบเดิมสามารถรันได้ในทุกระบบโดยไม่ต้องปรับแต่ง

รีด แอนเดอร์สัน เสริมว่าทางทรูมีทั้งคลาวด์ของตัวเองและใช้คลาวด์ของผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ควบคู่ด้วยสำหรับเลือกใช้งานตามพื้นที่ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศก็อาจจะใช้กูเกิลคลาวด์หรือคลาวด์ของเจ้าอื่นๆ

ทั้งนี้ กูเกิลมองว่าไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญ โดยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ที่มีการจัดงานกูเกิลคลาวด์ซัมมิต เนื่องจากเล็งเห็นความพร้อมของลูกค้าที่พร้อมจะใช้งานคลาวด์ในกลุ่มโทรคมนาคม การผลิต การธนาคาร รวมถึงมีสตาร์ตอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีเยอะมาก แต่ไม่มีแผนจะลงทุนตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย

แพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติงนั้นไม่ใช่เพียงเครื่องมือของบริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นตัวช่วยสำหรับกิจการขนาดเล็กด้วย เช่น การตั้งแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ที่การซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์มารันระบบนั้น มีกำลังประมวลผลคงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ หากกำลังประมวลผลน้อยเกินไปก็อาจจะระบบล่มในช่วงลดราคาที่มีผู้ใช้งานมาก หรือหากจะซื้อเซิร์ฟเวอร์ที่มีกำลังประมวลผลมากก็อาจราคาแพงไม่คุ้มทุน

ทว่าคลาวด์คอมพิวติงนั้นสามารถเพิ่ม-ลดกำลังประมวลผลได้ ในช่วงที่มีผู้ใช้งานพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวก็สามารถปรับเพิ่มกำลังประมวลผลเฉพาะในช่วงที่มีผู้ใช้งานเยอะได้ แล้วค่อยปรับลดลงในช่วงปกติที่มีผู้ใช้งานคงที่ สอดรับกับความต้องการในแต่ละช่วงโดยจ่ายตามที่ใช้งาน หากไม่มีการเปิดระบบใช้งานก็ไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับราคาค่าบริการคลาวด์นั้นต่างไปตามผู้ให้บริการ และขึ้นอยู่กับกำลังการประมวล จำนวนหน่วยประมวลผล และบริการเสริมอื่นๆ ที่ใช้ โดยเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือนกำลังประมวลผลขั้นต่ำสุดนั้นอาจมีค่าบริการเพียงประมาณ 20-50 สตางค์ต่อชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: