ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อมูลว่าพบครอบครัวชาวซิมบับเวตกค้างอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมินานเกือบ 3 เดือน จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์ ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ยืนยันกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แต่กำลังประสานกับ UNHCR

พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ในฐานะรองโฆษก สตม.และโฆษก บก.ตม.2 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าได้ตรวจสอบกรณีที่เกิดเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าผู้ตกค้างชาวซิมบับเว ได้แก่ นายมูวาดี ร็อดริค และครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่ 4 คน (ชาย 2 หญิง 2) และเด็กอีก 4 คน (ชาย 3 หญิง 1 ) อายุตั้งแต่ 2 ,6,7 และ 11 ปี เป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในการดูแลของสายการบินภายในเขตอาคารผู้โดยสารชั้นในของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

ชาวต่างชาติกลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้าประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และต่อมาได้ขอเดินทางออกนอกประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม โดยสายการบินยูเครน เพื่อเดินทางไปเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งต้องแวะผ่านที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน แต่ทางสายการบินพบว่าผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวไม่มีวีซ่าเข้าประเทศสเปน จึงปฏิเสธการขึ้นเครื่อง และสายการบินได้พาชาวต่างชาติกลุ่มนี้มาพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อยกเลิกการเดินทาง 

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวมีสถานะอยู่เกินกำหนด หรือ over stay ในไทยเป็นเวลา 5 เดือน เจ้าหน้าที่ ตม.จึงดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับ แต่ไม่สามารถให้กลับเข้ามาในประเทศได้ และได้ดำเนินการตามกฏหมายคนเข้าเมือง โดยให้สายการบินยูเครนรับตัวผู้โดยสารดังกล่าวกลับไปยังซิมบับเว ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด 

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวไม่ยินยอมเดินทางกลับซิมบับเว เนื่องจากเกรงอันตรายจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน กลุ่มผู้โดยสารนี้ได้ซื้อตั๋วเดินทางไปยังประเทศมอริเตเนีย โดยผ่านประเทศยูเครน-สเปน-มอริเตเนีย เมื่อกลุ่มผู้โดยสารนี้ได้ขึ้นเครื่องจากสุวรรณภูมิ ไปถึงประเทศยูเครนแล้ว กลับไม่สามารถเดินทางต่อจากยูเครนไปยังสเปนได้ เพราะไม่มีวีซ่า จึงถูกส่งตัวจากยูเครนกลับมายังสุวรรณภูมิในวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นผู้โดยสารทั้งหมดจึงได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) 

000_DL0AV.jpg

ทาง สตม.ได้รับสำเนาหนังสือของ UNHCR ถึงอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ มีใจความสำคัญสรุปว่า "กลุ่มชาวต่างชาติดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้รับการลงทะเบียนผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และมีความเสี่ยงประสบภัยในประเทศมาตุภูมิ ซึ่งทาง UNHCR กำลังดำเนินการในขั้นตอนผู้ลี้ภัยอยู่ โดยยังคงอยู่ในการดูแลของสายการบินเยี่ยงผู้โดยสารปกติ และไม่ได้ถูกควบคุมในห้องกักตัวของสายการบินเช่นเดียวกับชาวต่างชาติที่ถูกผลักดันกลับประเทศแต่อย่างใด" ขณะที่ทาง UNHCR ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลและสัมภาษณ์ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยคาดว่าจะมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ซิมบับเวประสบเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มทหารจำนวนหนึ่งบุกยึดสถานที่สำคัญในกรุงฮาราเร เมืองหลวงของซิมบับเว และควบคุมตัวนายโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 37 ปี แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มทหารดังกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้รัฐประหารยึดอำนาจ แต่เป็นการสลายความขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ 

หลายประเทศในฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และสหภาพยุโรป เกรงว่าการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ อาจนำไปสู่การปะทะนองเลือดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ซิมบับเวเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ และนายมูกาเบยอมประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน โดยที่อดีตรองประธานาธิบดีเอ็มเมอร์สัน นังกากวา ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ประธานาธิบดีแทน และยืนยันว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม:

นานาชาติเรียกร้องซิมบับเวเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

ปธน.ซิมบับเวไปไหน ในห้วง (เกือบ) รัฐประหาร?

พรรครัฐบาลซิมบับเวเรียกร้องให้ 'มูกาเบ' ลาออก