กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษและสหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป สหภาพแอฟริกา และเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในซิมบับเว หลังจากที่นายเอ็มเมอร์สัน นังกากวา รองประธานาธิบดี และคณะทหารจำนวนหนึ่ง นำกำลังบุกจับกุมและยึดอำนาจจากนายโรเบิร์ต มูกาเบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซิมบับเวมานานกว่า 37 ปี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะมีการกวาดล้างขั้วอำนาจเก่าโดยใช้วิธีการรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน
แม้กองทัพซิมบับเวจะไม่ยอมรับว่าการยึดอำนาจเป็นการรัฐประหาร แต่สหภาพแอฟริกาแถลงว่าการกระทำดังกล่าวคือการรัฐประหารอย่างแน่นอน ทั้งยังเรียกร้องให้คณะผู้ก่อการหาทางเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อให้ซิมบับเวมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จนถึงขณะนี้ กองทัพยังคงใช้อำนาจควบคุมสื่อและจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคยสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี
ทั้งนี้ กลุ่มยุวชนของพรรคซานู-พีเอฟ ซึ่งสนับสนุนนางเกรซ มูกาเบ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของซิมบับเว ออกแถลงการณ์ขอโทษกองทัพ วันนี้ (16 พฤศจิกายน) หลังจากที่โฆษกของกลุ่มเคยออกแถลงการณ์เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเรียกร้องให้ทหารเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและกลับเข้าค่ายทหารตามเดิม บ่งชี้ให้เห็นว่ากลุ่มยุวชนอาจถูกกดดันจากคณะรัฐประหารจนต้องปรับท่าทีอย่างรวดเร็ว
สื่อต่างประเทศหลายสำนักประเมินว่า นายนังกากวาอาจเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการณ์ แต่เขาอาจถูกต่อต้านจากสหภาพแอฟริกาและผู้นำประเทศอื่นๆ ซึ่งมองว่าเขาเป็นผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจและไม่มีความชอบธรรม แต่เขาอาจจะยังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนซึ่งยึดแนวทางไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ส่วนองค์กรสากลที่ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในทวีปแอฟริกา เรียกร้องให้คณะรัฐประหารซิมบับเวจัดการเจรจากับประชาชนและกลุ่มการเมืองในประเทศทุกกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ นายมอร์แกน สวานกิราย แกนนำขบวนการเปลี่ยนประชาธิปไตย ฝ่ายค้านของซิมบับเว แถลงเรียกร้องให้นายมูกาเบเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน โดยแนะนำให้เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เกรซ มูกาเบ ชนวนรัฐประหารซิมบับเว?
ปธน.ซิมบับเวถูกจับ แม้กองทัพปฏิเสธไม่ได้รัฐประหาร