ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นสังคมที่ยกย่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ในยุคเกือบ 100 ปีก่อน มีกวีหญิงที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวรรณกรรม แม้ผู้คนจะลืมชื่อของเธอไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันผลงานของเธอถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

มิซูซุ คาเนโกะ เป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่มีชีวิตอยู่ช่วง พ.ศ.2446-2473 และได้เรียนจนจบชั้นมัธยมปลาย เพราะแม่ของเธอซึ่งเป็นเจ้าของร้านหนังสือยืนยันว่า 'การศึกษา' คือสิ่งสำคัญ ทำให้มิซูซุรู้หนังสือและมีความเชี่ยวชาญด้านภาษา และเมื่อลองส่งบทกวีเข้าประกวดในนิตยสารซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เธอก็เป็นผู้ชนะรางวัลแทบทุกครั้ง

บทกวีของมิซูซุเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักอ่านวรรณกรรมในประเทศ และมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในแวดวงนั้น ส่วนผลงานของเธอมีความโดดเด่นที่การใช้ภาษาเรียบง่าย แต่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์และการเปรียบเปรยที่จับใจคนอ่าน โดยผู้ที่วิจารณ์ผลงานของเธอระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ชัดเจนในทุกบทกวีของเธอคือการเห็นอกเห็นใจในสรรพสิ่งรอบตัว ทั้งยังมองโลกในแง่จริง 

นักวิจารณ์ญี่ปุ่นเห็นพ้องต้องกันว่าบทกวีของมิซูซุไม่เคยหลีกเลี่ยงเมื่อต้องพูดถึงความเศร้า ความตาย หรือภาระอันหนักหน่วงของชีวิต ในขณะที่กวีอีกหลายคนเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวประนีประนอม หรือบรรยายโลกและสังคมที่ดูสวยงามเกินจริง 

บทกวีที่โด่งดังของมิซูซุบทหนึ่งชื่อว่า Big Catch พูดถึงความดีใจของชาวประมงในหมู่บ้านริมทะเลแห่งหนึ่งซึ่งจับปลาได้เป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน ในท้องทะเลคงจะมี 'งานศพหมู่' เพื่อไว้อาลัยแก่ปลานับหมื่นนับพันที่ต้องตาย ส่วนบทกวีอีกบทหนึ่งตั้งคำถามถึงความรู้สึกของลูกวาฬที่ต้องสูญเสียครอบครัวไปจากการล่าวาฬซึ่งเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่น

Misuzu Kaneko.Big Catch.JPG

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่สะท้อนผ่านบทกวีของมิซูซุไม่ได้มีแต่เรื่องเศร้า เพราะประโยคหนึ่งในบทกวียอดนิยมของเธอบอกคนอ่านว่า "เราทุกคนล้วนแตกต่างกัน และนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว" 

ส่วนบทกวีที่มีเนื้อหาให้กำลังใจ ชื่อว่า "เธอคือเสียงสะท้อนใช่ไหม?" (Are you an echo?) ถูกนำไปเผยแพร่ซ้ำหลายครั้งในสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อ 11 มี.ค.2554 โดยบทกวีดังกล่าวพูดถึงเสียงสะท้อนแห่งมิตรภาพของผู้คนในสังคม และสำนักพิมพ์ Chin Music Press ในสหรัฐอเมริกา ได้นำบทกวีดังกล่าวไปตั้งเป็นชื่อหนังสือรวมผลงานของมิซูซุ ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี 2559

เว็บไซต์เบรนพิคกิ้ง ซึ่งเป็นสื่อวิจารณ์วรรณกรรม นำเรื่องราวของมิซูซุมาเผยแพร่ในวันนี้ (21 มี.ค.2561) เพราะตรงกับ 'วันกวีสากล' และเป็นปีที่ 88 ที่มิซูซุเสียชีวิต โดยเบรนพิคกิ้งระบุว่า มิซูซุเป็นกวีที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะเรื่องราวที่สะท้อนในผลงานของเธอยังคงทันสมัยและจับใจผู้คนจนถึงวันนี้ อีกทั้งน้ำเสียงที่เธอใช้ในการถ่ายทอดบทกวีก็มีความเมตตาปราณีและเห็นใจสิ่งรอบตัว แม้ว่าชีวิตของเธอจะต้องเผชิญกับความโศกเศร้าอยู่มากก็ตาม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เจแปนไทม์สของญี่ปุ่นเคยรายงานเอาไว้ว่าบทกวีของมิซูซุสูญหายไประยะหนึ่ง เนื่องจากร้านหนังสือถูกทำลายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และชื่อของมิซูซุก็แทบจะถูกลืมไป จนกระทั่ง 'เซ็ทสึโอะ ยะซะกิ' นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นในยุคหลังได้รวบรวมผลงานของเธอและตีพิมพ์ขึ้นใหม่ 

Misuzu Kaneko.JPG

เซ็ทสึโอะ ยะซะกิ ใช้เวลานานกว่า 16 ปีเพื่อตามหาผลงานของมิซูซุ โดยเขาประสบความสำเร็จในปี 2525 เพราะได้พบกับน้องชายของมิซูซุ ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 77 ปี และเป็นผู้มอบสมุดไดอารี 3 เล่มที่เป็นของมิซูซุให้แก่เขา รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่แสนสั้นของมิซูซุให้ฟังด้วย

มิซูซุกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุได้ 3 ปี แต่ก็โชคดีที่เธอมีแม่ซึ่งมองการณ์ไกล สนับสนุนให้ลูกสาวเรียนหนังสือจนจบมัธยมปลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากในสังคมญี่ปุ่นยุคเกือบร้อยปีที่แล้ว และเมื่ออายุย่างเข้า 17 ปี มิซูซุก็มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่มและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ 

โชคไม่ดีนักที่เธอแต่งงานกับสามีที่ไม่สนับสนุนการทำงานของภรรยา ทั้งยังไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตคู่ เพราะเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเธอพยายามขอหย่าขาดจากสามีก็ต้องเจอกับความไม่เป็นธรรมซ้ำเติม เพราะกฎหมายญี่ปุ่นในยุคนั้นให้สิทธิแก่สามีในการเป็นผู้เลี้ยงดูลูกเพียงฝ่ายเดียว 

มิซูซุตัดสินใจฆ่าตัวตาย และเขียนจดหมายขอร้องให้สามีเธอมอบสิทธิให้แม่ของเธอในการดูแลลูกสาวที่มีด้วยกันหนึ่งคน ซึ่งสามีของเธอยอมรับคำร้องครั้งสุดท้าย และยินยอมให้แม่ของมิซูซุเป็นผู้ดูแลหลานหลังจากเธอล่วงลับไป

มิซูซุเกิดเมื่อเดือนเมษายน 2446 และจบชีวิตตัวเองเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2473 ด้วยวัยเกือบ 27 ปี

Kaneko-Site-Book-Cover-1.jpg

เธอคือเสียงสะท้อนใช่ไหม?

ถ้าฉันพูดว่า "มาเล่นกันเถอะ"

เธอก็พูดว่า "มาเล่นกันเถอะ"

ถ้าฉันพูดว่า "โง่จัง!"

เธอก็พูดว่า "โง่จัง!"

ถ้าฉันพูดว่า "ไม่อยากเล่นด้วยแล้ว"

เธอก็พูดว่า "ไม่อยากเล่นด้วยแล้ว"

หลังจากนั้นไม่นาน...

ก็เริ่มเหงา

ฉันพูดว่า "ขอโทษ"

เธอก็พูดว่า "ขอโทษ"

เธอเป็นเพียงเสียงสะท้อนเท่านั้นหรือ?

เปล่าเลย, เธอคือทุกๆ คนต่างหาก


ที่มา: Brain Pickings/ Japan Times/ Misuzu Kaneko

อ่านเพิ่มเติม: