ไม่พบผลการค้นหา
คุยเรื่องหนังสือที่พวกเขาอ่านกับผู้วางนโยบายฝ่ายก้าวหน้า นักเขียน นักข่าว พิธีกร และผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวี


แม้ว่างานสัปดาห์หนังสือจะจบลงไปแล้ว แต่เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือไม่ได้หายไปไหนและวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวเราเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ในขณะที่หนังสือทั้งใหม่และเก่าถูกวางรอไว้ให้เราอ่านอยู่เต็มห้อง แต่เราก็ยังหาเวลายาว ๆ หรือกำลังใจดี ๆ ในการหยิบขึ้นมาอ่านไม่ได้สักที ทีมวอยซ์ออนไลน์จึงขอเสนอตัวมาช่วยกระตุ้นนักอ่านกันอีกครั้ง ผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าว่าด้วยหนังสือจากคนที่น่าสนใจ 5 คนนี้


หมอมิ้ง - พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ผู้วางนโยบายฝ่ายก้าวหน้า

หนังสือ หมอมิ้ง1.jpg


“ตั้งแต่เด็ก ผมไม่ได้เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ นอกจากตำราเรียนแล้ว ผมไม่ค่อยได้อ่านอะไรหรอก” หมอมิ้งออกตัว 

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นช่วงปลดเปลื้องความคิดของปัญญาชน ขณะนั้นเขาเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

“เรามาเข้าใจทีหลังว่า เราถูกจำกัดให้คิดอยู่ในกรอบที่เขาเลือกให้เราสนใจ” เขานึกย้อนกลับไป

“ผมชอบคุยนะ ตอนนั้นผมคุยกับเพื่อนจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เราแชร์ความคิดกัน จุฬาฯ มีระบบโซตัส พอสังคมไทยมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น จุฬาฯ ก็กลายเป็นที่ที่สู้กันแรงระหว่างโซตัสและแอนตี้โซตัส เพื่อนผมที่ธรรมศาสตร์ตอนนั้นจะลิเบอรัลหน่อย ผมเลยรู้สึกว่าการเรียนของผมไม่สนุกเลย มีแต่พวกเคร่งขรึม (หัวเราะ)”

14 ตุลา ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้นักศึกษาในยุคนั้น หนังสือที่เคยอยู่ในที่ลับเริ่มหลั่งไหลออกมา


อ่านการพูดคุยกับหมอมิ้งแบบเต็ม ๆ ต่อได้ที่ สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: หมอมิ้ง อ่านอะไร


คำ ผกา - ลักขณา ปันวิชัย นักเขียน คอลัมนิสต์ พิธีกรวอยซ์ทีวี

https://images.voicetv.co.th/media/1200/0/storage0/1428727.jpg


เพศและวัฒนธรรม ของอาจารย์ปรานี วงษ์เทศ คำ ผกา บอกว่าถือเป็นหนังสือเรียน 101 ของคนที่สนใจประวัติศาสตร์เรื่องเพศ เธอเองยังต้องหยิบออกมาอ่านอยู่เรื่อยๆ ปีละครั้งสองครั้ง หยิบมาใช้อ้างอิง เช็คข้อมูล เธอเล่าว่า แม้หลายทฤษฎีอาจจะเก่ามากแล้ว แต่ทฤษฎีคลาสสิค อย่างไรก็ยังคงคสาสสิคอยู่ ต่อให้ข้อถกเถียงหรืองานวิจัยไปไกลขนาดไหน สุดท้ายก็ยังต้องกลับมาที่ต้นธารของมันเสมอ

“ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เรื่องเพศ เริ่มจากความสนใจเรื่องอุดมการณ์รัฐ ความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนว่าเป็นอย่างไร รัฐพยายามทำให้ประชาชนอยู่ในร่องในรอยอย่างไร ก็ต้องมีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ มีการเขียนประวัติศาสตร์ มีการส่งผ่านอุดมการณ์รัฐในแบบเรียน รัฐไทยควบคุมเรื่องเพศของพลเมืองอย่างไร จัดการเรื่องความรักอย่างไร จัดการกับสถาบันครอบครัวอย่างไร แต่งงานต้องไปจดทะเบียน การตาย การเกิดต้องไปแจ้งอำเภอ นี่คือเรื่องเพศที่รัฐเข้าไปยุ่มย่ามในพื้นที่ของพลเมือง”


ไม่ได้มีเรื่องเพศเท่านั้นที่เธอสนใจ ตามไปดูลิสต์หนังสือของเธอต่อได้ที่ สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คำ ผกา อ่านอะไร


คุณปลื้ม - หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวี

https://images.voicetv.co.th/media/1200/0/storage0/1432000.jpg


ระยะหลังคุณปลื้มไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเล่มจนจบ แต่มักตามอ่านคอลัมน์ของคอลัมนิสต์ชื่อดัง อย่าง Thomas Friedman ซึ่งเป็นลงงานเขียนในนิวยอร์คไทม์ คุณปลื้มยังบอกอีกว่าเขาเคยได้รางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลเกียรติยศของคนทำงานข่าว

“เขาจะเป็นแนวเสรีนิยม ออกซ้ายกลาง” คุณปลื้มเริ่มต้นพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง

“ภาษาอังกฤษของทั้งสองคนดีมาก แล้วใช้ศัพท์จากหลากหลายวงการ ไม่ใช่ศัพท์แบบน่าเบื่อ เล่าเรื่องเทคโนโลยี ปรัชญา ธรรมชาติ บ้าบอคอแตกมาเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วอ่านสนุกมาก”


ถึงคุณปลื้มจะบอกว่าไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเล่มแล้ว แต่หนังสือเล่มที่คุณปลื้ม "ปลื้ม" อยู่ก็ยังมีให้ตามไปดูกันได้ที่ สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คุณปลื้ม อ่านอะไร


ช่อ - พรรณิการ์ วานิช ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และพิธีกรวอยซ์ทีวี

https://images.voicetv.co.th/media/1200/0/storage0/1430119.jpg


ในอาณาจักรไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ของภาณุ ตรัยเวช

“คนไทยจำนวนหนึ่งจะมีตรรกะว่า เป็นไงล่ะประชาธิปไตย ฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผิด ผิดหนักมาก นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบ” ช่อเริ่มเล่า

“ที่ชอบเล่มนี้ เพราะมันฉายภาพของสังคมประชาธิปไตยที่ค่อย ๆ ลื่นไถลไปสู่สังคมเผด็จการอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว พูดแล้วขนลุก เพราะว่ามันเหมือนสังคมไทย ตอนอ่านนี่แบบทำไมประเทศไทยถึงเหมือนเยอรมันยุคนาซี มันไม่ใช่แค่เรื่องของพรรคนาซีอย่างเดียว แต่มีปัจจัยหลายอย่างแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่ส่งเสริมให้คนรู้สึกว่าการฆ่าคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ฆ่าคนเห็นต่างให้หมดประเทศเป็นเรื่องที่ควรทำ ซึ่งประเทศไทยเองเคยผ่านจุดนั้นมาแล้วครั้งหนึ่งคือ ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แล้วถ้าเราไม่เรียนรู้สิ่งผิดพลาดในอดีต เราก็มีโอกาสไปสู่จุดนั้นอีกในอนาคต”


ช่อยังมีหนังสืออีกมากที่เธอเล่าให้เราฟัง จนคุณอาจจะแปลกใจว่าเธอก็อ่านหนังสือพวกนี้ด้วย ? คุยกับเธอต่อเต็ม ๆ ได้ที่ สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: ช่อ อ่านอะไร


หมอเลี้ยบ - สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้วางนโยบายฝ่ายก้าวหน้า

https://images.voicetv.co.th/media/1200/0/storage0/1428130.jpg

“เราควรจะมีทีเคปาร์คทั่วประเทศ และไม่ใช่มีทีเคปาร์คอย่างเดียวแล้วจบ ควรจะมีที่อื่น ๆ ที่ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น หรือร่วมมือกับเอกชน ผมว่าทุกห้างควรจะมีห้องสมุด”

ระยะหลังมีร้านกาแฟอย่าง Too Fast To Sleep ซึ่งเขามองว่าถ้าเอาหนังสือใส่ไปด้วย แล้วเวียนให้คนมานั่งอ่าน นอนอ่าน ตะแคงอ่าน เสร็จแล้วก็มีอาหารให้หาซื้อกินได้ น่าจะเป็นบรรยากาศที่ทำให้คนได้ใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการไปศูนย์การค้า ไปดูหนัง ไปกินข้าว ถ้ามันกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ สัก 20-30 แห่ง น่าจะเป็นการจุดไฟแห่งความฝันให้กับเด็กจำนวนไม่น้อย

“ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชอบมาก” หมอพูดขึ้นมา “เอกภพ และ ดร.ไอน์สไตน์ เป็นตัวจุดประกายความชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ของผม แปลโดยสภาวิจัยแห่งชาติ จัดพิมพ์ในราคาถูกมาก ขายโดยคุรุสภา เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเห็นว่ามีหนังสือนอกเวลาของหน่วยงานรัฐที่ส่งเสริมให้มีการจัดพิมพ์ เราไม่ค่อยเห็นการจัดพิมพ์หนังสือแปลในราคาถูกให้คนได้อ่าน”


ไม่เพียงแต่เรื่องวิทยา��าสตร์ที่หมอเลี้ยบหยิบมาเล่า แต่ยังมีหนังสืออีกหลากหลายที่เราอยากให้คุณได้รู้ไปด้วยกันที่ สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: หมอเลี้ยบ อ่านอะไร



หวังว่าการคุยกันเรื่องหนังสือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้หนังสือที่วางรออยู่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพลิกอ่าน และเราขอให้มีความสุขกับการอ่านกันถ้วนหน้า ด้วยความปรารถนาดีจากทีมวอยซ์ออนไลน์